ความคาดหวังทางสังคมเกือบทั้งหมดในปัจจุบันต้องฝากความหวังไว้ที่ข้าราชการประจำเป็นหลัก เพราะเป็นกลไกหลักในการจัดการปัญหาบ้านเมืองทุกด้าน ส่วนนักการเมืองและภาคประชาสังคมในขณะนี้นั้นยังไม่สามารถจะขยายบทบาทได้ ทั้งกลุ่มผู้นำประเทศและกลไกบริหารบ้านเมืองขณะนี้คือข้าราชการประจำ การปฏิรูปประเทศด้านสำคัญจึงต้องปฏิรูประบบคิดของข้าราชการประจำเสียก่อน ข้าราชการประจำทั้งหลาย...... “เราไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของเราเอง เราไม่ได้เป็นสมาคมโต้วาที ไม่ได้เป็นกองทัพเอกชน หรือเป็นสมาคมเพื่อให้สมาชิกได้มาสังสรรค์กัน เราทั้งหลายผู้เป็นข้าราชการประจำคือปัจจัยในอันที่เพื่อนร่วมชาติของเราจะได้ใช้เจตนาส่วนรวมของเขากระทำการเพื่อประโยชน์ของเขาเองเท่านั้น หากประโยชน์อันใดจะเกิดขึ้นแก่เราบ้าง จากการกระทำนั้น ประโยชน์นั้นก็เป็นประโยชน์ที่มิได้มุ่งจะให้เกิดแก่เราโดยเฉพาะ พวกเราข้าราชการประจำจะต้องทำราชการของเราให้ดีกว่าการงานเอกชน เพราะเราจำเป็นที่จะต้องหาทางที่จะมีสมรรถภาพสูงโดยไม่ต้องมีความผลักดันจากตลาดสินค้าและความประสงค์ที่จะแสวงหากำไรให้มาก ภัยอันตรายของนักการเมืองและรัฐมนตรีนั้น มิได้เป็นอย่างที่คนมักจะเข้าใจกัน คือข้าราชการประจำปฏิบัติงานล่าช้าในการดำเนินตามนโยบาย แต่อยู่ที่ นักการเมืองหรือรัฐมนตรีเองอาจเล็งผลเลิศจนเกินไป และทำตัวให้ตกอยู่ในแผนการหรือนโยบายที่จะต้องล้มเหลว ความสนใจต่อประสบการณ์และข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งข้าราชการประจำจะหาให้ได้นั้น จะป้องกันความล้มเหลวนั้นได้” (คำกล่าวอบรมข้าราชการประจำของ เซอร์ วิลเลี่ยม อาร์มสตรอง ประมุขของข้าราชการพลเรือนในประเทศ – Head of the Home Civil Service ประเทศอังกฤษ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” แปล พ.ศ 2514) ถ้อยคำเหล่านี้ ตอบปัญหาอะไรได้หลายอย่าง ข้าราชการประจำเป็นข้าช่วงใช้ของนักการเมืองหรือรัฐมนตรีหรือ ? เปล่าเลย ข้าราชการประจำเป็นปัจจัย หรือเป็นเครื่องมือของคนทั้งชาติที่จะทำการต่าง ๆ ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน นอกจากข้าราชการประจำมิใช่ขี้ข้าของนักการเมือง แต่ข้าราชการประจำเป็นสติของนักการเมืองผู้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี “สติ” เป็นเครื่องคอยควบคุมให้คนทำถูก “สติ” เป็นเครื่องยับยั้งคนที่กำลังจะทำชั่ว ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ประชาชนปกครองตนเอง ด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ในการนี้ประชาชนต้องมีปัจจัย ต้องมีเครื่องมือ ข้าราชการประจำคือปัจจัยและเครื่องมือของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ถ้าข้าราชการประจำไม่เป็นปัจจัยหรือเครื่องมือให้แก่ประชาชนเสียแล้ว ระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ ก็ไม่มี ข้าราชการประจำจะต้องแยกให้ชัด ระหว่างการเป็นเครื่องมือของ “คนกลุ่มที่กุมอำนาจรัฐ” กับการเป็นเครื่องมือของประชาชนที่แท้จริง