ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ปีนี้ไทยจะมีโอกาสเป็นประธานอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะนำเสนอแนวทางพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่ยังคงมีความหลากหลายในความเหลื่อมล้ำ และความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และรายได้เป็นอย่างมาก หนึ่งในเป้าหมายของการรวมกลุ่ม 10 ประเทศ ก็เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับประเทศที่เขาพัฒนาแล้วในกลุ่มประเทศตะวันตก เร่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เพื่อนประเทศสมาชิกในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโดยเฉพาะความยากจนให้แก่ประชาชนของตนเอง ปีนี้ประเทศไทยจะชูแนวทางข้อใดเป็นหัวข้อการพิจารณา ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะในกลุ่ม 8 สาชาอีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก พยาบาล นักสำรวจ และการบริการการท่องเที่ยว ที่ได้มีข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements) โดยต้องมีทักษะตามข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยต้องมีหลักสูตรที่สามารถรองรับกันได้ทั้ง 10 ประเทศ ดูเหมือนว่าเราจะลืมกันไปแล้ว และออกจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังมีความรู้สึกว่ายังไม่มีความจำเป็นมากนักกระมังในการออกไปหางานทำในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศไทยยังคงมีงานให้ทำมากมาย โดยเฉพาะสาขาอาชีพวิศวกร ที่ยังมีความต้องการสูงในประเทศด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือประเทศไทย 4.0 รวมถึงการเปิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย ทั้งๆที่ประเทศไทยมีการศึกษาด้านนี้กันมากมาย การจะไปทำงานในประเทศอื่นได้ จะต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาชีพวิศวกรวิชาชีพอาเซียน (ASEAN Chartered Professional Engineer) ซึ่ง ณ เดือน ธันวาคม 2561 มีวิศวกรในประเทศอาเซียนขึ้นทะเบียนไว้ดังนี้ บรูไน 22 กัมพูชา 67 อินโดนีเซีย 1,069 ลาว 12 มาเลเซีย 589 เมียนมา 514 ฟิลิปปินส์ 378 สิงคโปร์ 278 ไทย 217 เวียดนาม 204 รวม 3,350 คน จากตัวเลข จะเห็นว่าอินโดนีเซียมีความสนใจที่จะไปทำงานในประเทศอื่นๆมากที่สุด แต่ประเทศไทยมีเพียง 217 คน ต่างกันมาก พออนุมานได้ว่าประเทศอื่นๆเขาอยากไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านกันทั้งนั้น มีเพียงประเทศไทยที่วิศวกรบ้านเรายังมีงานในประเทศล้นเหลือ กับทั้งอินโดนีเซียมีการศึกษาที่โดดเด่นกว่าไทย ทั้งติดอันดับโลกก็ยังมี ยังรวมถึงมาเลเซีย เมียนมา มีการศึกษาที่เน้นคุณภาพและประสงค์ที่จะมาทำงานในบ้านเมืองเรามากกว่าประเทศเขาเองที่มีโอกาสน้อย อนาคตหากดูตัวเลขเฉพาะกลุ่มวิศวกรเพียงกลุ่มเดียว ส่วนกลุ่มอื่นๆคาดว่าไทยยังไม่ขึ้นทะเบียนน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะอาขติดขัดเรื่องภาษาอังกฤษ และการไม่ยอมเสี่ยงในประเทศอื่นที่อาจมีรายได้ไม่มากพอที่จะไปกอบโกยกลับมา อาจต้องมีข้อกำหนดอัตราเงินเดือนหรือรายได้ที่สูงเป็นแรงจูงใจอีกทาง ประเทศไทยอาจจะเสียเปรียบ เพราะผู้มีวิชาชีพในกลุ่มดังกล่าวมีทักษะและฝีมือเป็นที่ยอมรับ ว่าทักษะยอมรับได้ อาจทำให้ประเทศไทยต้องใช้แรงงานเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาประเทศแล้ววิศวกรไทยที่มีการเรียนการสอนกันมากมาย จะไปทำอะไรกัน และไม่ทราบว่าที่ขึ้นทะเบียนกันไว้ได้ไปทำงานในประเทศต่างๆกันสักกี่คน การประชุมครั้งนี้คงไม่มีเรื่องแรงงานเหล่านี้เป็นหัวข้อการพิจารณาหรือเป็นประเด็นหลัก แต่อนาคตวิชาชีพแต่ละกลุ่มน่าจะมีความสำคัญและจำเป็นต้องหยิบยกมาพูดคุยกันบ้าง เพราะเราต้องการคนที่มีคุณภาพ มาช่วยกันพัฒนาประเทศ