สังคมไทยเวียนว่ายอยู่ในวังวนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาหนึ่งทศวรรษแล้ว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสังคมไทย อันความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องปกติ ในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ “ความขัดแย้ง” ดำรงอยู่ในทุกเรื่องและทุกสรรพสิ่ง และก็เป็นปัจจัยหลักในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราดูโครงสร้างของอะตอม ซึ่งเป็นฐานรากของทุกสรรพสิ่ง ก็จะเห็นความขัดแย้งของคู่ขัดแย้งได้ง่ายเพราะมันไม่สลับซับซ้อน กล่าวคือ มีโปรตรอนฝ่ายอนุภาคบวก กับอีเล็คตรอนฝ่ายอนุภาคลบ คู่ขัดแย้งนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามปกติ แต่ถ้าเกิดสภาวการณ์ที่คู่ขัดแย้งพัฒนาความขัดแย้งเป็นขั้น “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” กัน อะตอมนั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบวิกฤติ เช่น อะตอมนั้นแยกสลาย เป็นต้น เรื่องนี้พอจะอนุมานมาอธิบายปัญหาในสังคมได้ ความขัดแย้งปกติเป็นเรื่องปกติ ส่วนที่เราต้องระมัดระวังป้องกันไว้คือ “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” ปัญหาความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกนั้น สาเหตุสำคัญก็คือ “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” รากเหง้าปัญหาแท้จริงของประเทศไทย มิใช่แค่เรื่องวิกฤติการเมืองแตกแยกทางความคิด แบ่งค่ายแบ่งสี วิกฤติการเมืองดังกล่าวนี้เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศไทยเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ทั้งที่มีผลจากอิทธิพลโลกาภิวัตน์และอิทธิพลภายในสังคมไทยเอง ทุกเรื่องทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง อันนี้เป็นสัจธรรมแต่ที่เมืองไทยมีปัญหา ก็เพราะปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือได้ช้าเกินไป และปล่อยให้บาง “ความขัดแย้ง” พัฒนาจนกลายเป็น “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” ตัวอย่างปัญหาที่จะรุนแรงในอนาคตอันใกล้ คือ ในเมื่อเมืองไทยเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องลงทุนปฏิรูปเศรษฐกิจทุกด้าน ดังที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ “โมเดลประเทศไทย 4.0ไว้แล้ว แต่ยังมีจุดอ่อนคือ รูปธรรมของด้าน “วัฒนธรรมไทย 4.0” ควรจะเป็นอย่างไร ? ภารกิจการปฏิรูปรอบนี้จึงลึกและซับซ้อน การจะปฏิรูปให้ถูกต้องเหมาะสมนั้น จะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง แล้วมีวิสัยทัศน์ว่า การเปลี่ยนแปลงเห่านั้นส่งผลต่อทุกภาคส่วนอย่างไร จะวางกฏเกณฑ์รับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงที่ถูกมองข้ามคือ ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คน ความสัมพันธ์ของคนในสังคมและชุมชน ในทุกภาคส่วน , ความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และภูมิอากาศ , ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี , ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ , ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างการทำงาน การจ้างงาน ฯลฯ จากนั้นจึงจะกำหนดแนวทางปฏิรูปได้ถูกต้องเหมาะสม