ทองแถม นาถจำนง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ 2507 ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้ขอลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพื่อทุ่มเทเวลาให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ให้ทรรศนะที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้นว่า “บุคคลควรจะทำงานน้อยตำแหน่งเพื่อจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งานที่ทำนั้น” พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนสนับสนุนทรรศนะของ ดร.ป๋วย แต่ก็น่าเสียดายนะครับ ที่มาถึงทุกวันนี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย ยังนิยมรับงานมากมายหลายตำแหน่ง แบบว่ามีรายได้จากค่าประชุม หรือค่าตำแหน่งกรรมการ (บอร์ด) อย่างเดียวก็มากล้นเกินกว่า “เงินเดือน” ในตำแหน่งเดิมแล้ว ข้าพเจ้าว่าใครได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็ควรจะละอายกันบ้าง อาจารย์ป๋วย ลาออกจากตำแหน่งผู้การธนาคารชาติ เพื่อจะทุ่มเทเวลาให้กับการบริหารจัดการการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกรณีนี้ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนสนับสนุน ดังต่อไปนี้ “หนังสือพิมพ์บองกอกเวิรลด์ ฉบับประจำวันนี้ได้ลงข่าวว่า คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าราชการธนาคารแห่งประเทศไทยได้คิดจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพระเหตุว่าท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ดร.ป๋วย ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์บางกอกเวิรลด์ เป็นความว่า ท่านขอยืนยันด้วยเกียรติของท่านเองว่า ไม่ได้มีเรื่องผิดใจกับรัฐบาลแต่อย่างใดเลย การลาออกจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ เป็นผลเนื่องมาจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยซึ่งได้แต่งตั้งให้เป็นคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 เดือนนี้ การที่เข้ารับตำแหน่งใหม่อีกตำแหน่งนี้ก็ทำให้ ดร.ป๋วย เห็นว่าการงานที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็หนักอยู่แล้ว ส่วนตำแหน่งใหม่คือตำแหน่งคณบดีนั้น ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูง แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ผู้เข้ารับจะต้องทำงานเต็มเวลา ไม่ควรจะไปทำงานอื่นในขณะเดียวกัน ดร.ป๋วย ได้กล่าวว่า ท่านมีความปรารถนามานานแล้วที่จะมีบทบาทในการวางแผนการศึกษาของชาติ และเมื่อได้รับแต่งตั้งครั้งนี้ ก็เห็นว่าควรจะทำงานแต่ด้านเดียวในด้านการศึกษา คือเป็นแต่คณบดีเท่านั้น จึงได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพราะว่าการเป็นคณบดีในทรรศนะของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้น ผู้ที่เป็นคณบดีจะต้องมีเวลาที่จะอยู่ใกล้ชิดกับบรรดาครูบาอาจารย์ในคณะ อยู่ใกล้ชิดกับนักศึกษา การที่จะเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ด้วยนั้น ไม่สามารถทำให้ตัวท่านเองได้อยู่ใกล้ชิดกับอาจารย์ในคณะและนักศึกษาในคณะเท่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นจึงได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเสียตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วย ได้กล่าวต่อไปว่า อาจจะมีบุคคลบางคนคิดว่าท่านมีเรื่องผิดใจหรือมีเรื่องแตกต่างความเห็นกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลใหม่ ดร.ป๋วยก็ขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องเช่นนั้นเลย ข่าวที่มีมาถ้าหากว่ามี ก็ไม่เป็นความจริงทั้งส้น ธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนี้ก็ดำเนินการดีอยู่แล้ว และตามความเห็นของ ดร.ป๋วย เองก็มีความเห็นว่าอาจจะมีบุคคลอื่นที่มีคุณวุฒิและความสามารถเหมาะสมที่จะเป็นผู้ว่าการธนาคารได้อีกหลายคน แต่สำหรับทางด้านการศึกษาเรานั้น ดร.ป๋วย รู้สึกว่าจะหาคนสมัครเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ยากนัก เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาท่านก็เห็นว่าควรจะรับตำแหน่งการศึกษามากกว่า เรื่องนี้ ดร.ป๋วย ได้กล่าวว่าได้เรียนกับท่านนายกรัฐมนตรีไว้แล้วสองครั้ง ครั้งแรกในเดือนมิถุนายนและครั้งที่สองก็เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แต่ท่านนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างใด และผลที่สุดท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ยอมให้ ดร.ป๋วย ก็กล่าวว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทนอาจจะต้องขอลาพักจากตำแหน่งหรือหยุดงานจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อจะใช้เวลานั้นวางหลักสูตรในคณะเศรษฐศาสตร์ใหม่และเพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ ความจริง ดร.ป๋วย นี้เป็นครูบาอาจารย์มานานแล้ว ท่านเคยสอนทั้งในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นก็เป็นคนไทยคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่ได้เคยสอนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ คือท่านได้เคยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และท่านได้ทำชื่อเสียงไว้ในหลายแง่หลายมุม ทุกวันนี้ท่านก็เป็นกรรมการของทางราชการอยู่หลายแห่ง เป็นกรรมการที่มีหน้าที่ต่าง ๆ กัน ตั้งแต่กรรมการวางแผนเกี่ยวกับการไฟฟ้าไปจนถึงทางหลวง เขื่อนกั้นน้ำ และอื่น ๆ อีกมาก คือกรรมการใดที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศก็มักจะปรากฏว่ามี ดร.ป๋วย เป็นผู้ที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการทั้งนั้น ข่าวนี้ถ้าจะว่าไปก็เป็นข่าวสำคัญครับ เพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นองค์การของรัฐแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเงินของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นก็จะต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คือเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการคลังและการเงิน ตลอดจนเป็นผู้ที่เคารพนับถือและไว้วางใจของคนทั่วไป เพราะเหตุว่าธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของคนทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ สำหรับทางด้านตำแหน่งผู้ว่าการธนาคาร ผมเองมีความเห็นว่าคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด จะหาผู้อื่นมาแทนผู้นี้ก็เห็นจะหายาก เพราะท่านเหมาะสมทั้งในด้านคุณวุฒิทั้งด้านวัยวุฒิทางด้านวิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นบุคคลที่ไมมีความด่างพร้อยในเรื่องใด ๆ เลย และเป็นผู้ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ ไว้วางใจ ได้เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อท่านได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นนี้ ผมในฐานที่เป็นคนไทยคนหนึ่งก็อดที่จะมีความรู้สึกเสียดายไม่ได้ อยากจะเห็นท่านดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปนาน ๆ เพราะเหตุว่าจะหาคนที่เหมาะสมเกินกว่า ดร.ป๋วย ไปได้นั้นยาก แต่ขณะเดียวกัน ผมก็อยากจะสนับสนุนความเห็นของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ทรรศนะของคุณป๋วย เป็นทรรศนะที่เราควรจะมีมานานแล้วในเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังรู้สึกว่าเป็นทรรศนะที่ใหม่ ทรรศนะนั้นก็คือว่าบุคคลควรจะทำงานน้อยตำแหน่งเพื่อจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งานที่ทำนั้น ในเมืองไทยเรา บุคคลสำคัญ ๆ ในเมืองไทยเราแต่ละคนนั้นมีการงานมากมายหลายตำแหน่งเหลือเกิน ดุไปก็จะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญ แต่ละท่านมีหน้าที่ทั้งในการทหารทั้งในทางการเมืองทั้งในทางเศรษฐกิจและทางอื่น ๆ อีกมากมาย และดูความโน้มเอียงของคนไทยก็รู้สึกว่าชักจะมีความเห็นว่าถ้าบุคคลใดมีหน้าที่ราชการหลายตำแหน่งพร้อมกันแล้ว ก็ดูจะเป็นเกียรติแก่คนนั้น คล้าย ๆ กับว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจวาสนามาก ความสามารถมาก และทำการงานให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้มาก เรื่องเหล่านี้ก็อาจจะเป็นจริงครับ แต่ว่าผมก็อยากจะขอแสดงความเห็นว่าการงานที่เกี่ยวกับสาธารณะนั้น ถ้าเป็นงานใหญ่แล้วก็รู้สึกว่าต้องการเวลา กำลังกาย กำลังใจทั้งหมดของบุคคลที่ทำนั้นให้ทุ่มเทลงไปในงานนั้น ถ้าหากว่ามีงานพร้อมกันหลายตำแหน่งแล้ว ผมก็เกรงไปว่าอาจจะทำไม่ได้ดีสักตำแหน่งเดียว หรือมิฉะนั้นก็อาจจะต้องเป็นแต่เพียงเจว็ด หรือเป็นแต่เพียงหัวหน้าที่ไม่มีความหมายในการงาน เพราะเหตุว่าถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำงานในฐานะที่เป็นหัวหน้าองค์การ เป็นทั้งเจ้ากระทรวงและเป็นทั้งอธิบดีและเป็นอื่น ๆ อีกมากมายในหลาย ๆ ทางแล้ว ในที่สุดการงานที่แท้จริงก็จะดำเนินไปโดยน้ำมือของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่รับตำแหน่งรอง ๆ ลงไปเท่านั้น ผู้ที่เป็นหัวหน้างานจริง ๆ ไม่มีเวลามาศึกษางานให้ถ่องแท้ หรือไม่สามารถที่จะมาสั่งการได้ด้วยการพิจารณาอย่างเต็มที่เท่าที่ควรจะทำได้ เพราะฉะนั้น ก็อาจจะสั่งการงานไปโดยความเห็นของผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่รับตำแหน่งรอง ๆ ลงไป อย่างนี้ก็เรียกได้ว่ารู้สึกว่าจะไม่เป็นตัวของตัวเองนัก และอาจจะมีการผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย สำหรับ ดร.ป๋วย ซึ่งท่านได้กล่าวว่างานการศึกษา คืองานของคณบดีเป็นงานที่จะต้องทำเต็มเวลานั้น ผมเห็นด้วยเป้นอย่างยิ่ง แล้วก็มีความเห็นว่าถ้าหากว่าเมืองไทยเราถือเอาหลักนี้แล้ว การงานต่าง ๆ อาจเจริญขึ้นมาก เพราะเหตุว่าถ้างานของใคร ๆ ก็ทำโดยอุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งานนั้นอย่างที่ ดร.ป๋วย ว่าแล้ว โดยเฉพาะยิ่งในงานที่สำคัญ ๆ การงานก็ต้องเจริญเป็นธรรมดา” (29 กันยายน 2507)