ความสำเร็จของการศึกษามิได้ชี้ขาดอยู่ที่วัตถุหรือเทคโนโลยี ถ้าคนเราตั้งใจทุ่มเทให้การเรียนรู้ คนนั้นก็ก้าวหน้าทางการศึกษาได้การศึกษาของปัจเจกชน ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของคนผู้นั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า “ระบบการศึกษา”โดยองค์รวมมีปัญหา มีความบกพร่อง ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญรุ่งเรืองของสังคม เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ สร้างสรรค์ระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ๆ ที่ผ่าน ๆ มา กระทรวงศึกษาธิการกลายเป็นกระทรวงที่เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยที่สุด มีเรื่องอื้อฉาวบ่อย ๆ เปลี่ยนรัฐมนตรีที ก็จะมีนโยบายใหม่ ๆ ออกมาบังคับให้โรงเรียนปฏิบัติ พอได้รัฐมนตรีคนใหม่ แนวทางปฏิบัติเดิมก็ถูกละทิ้งไป เมื่อตั้งคำถามถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย คำตอบมีต่าง ๆ นานา ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตอบมองว่าเป้าหมายของการศึกษาคืออะไร ? เราเห็นว่าสัมฤทธิผลของการศึกษาต้องวัดจากสองด้านอย่างเท่าเทียมกัน คือมาตรฐานการดำรงชีวิตในสังคม และจริยธรรมในสังคม มาตรฐานการดำรงชีพพูดง่าย ๆ ก็คือ การอยู่ดีกินดี มีกำลังจัดการศึกษาให้ลูกหลานจริยธรรมในสังคมก็ดูได้ง่าย ๆ จากสถิติอาชญากรรมในสังคม แค่ดูจากสองด้านนี้ ก็บอกได้ว่าสัมฤทธิผลของระบบการศึกษาไทยยังไม่น่าพอใจ นักการศึกษาอาจมีทฤษฎีลึกซึ้งมากมายสำหรับการปฏิรูปการศึกษา แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราขมวดเข้าเป็นเรื่องเดียวคือ “คน” การศึกษาทำให้คนไทยดีพอหรือยัง ? การสร้างพลเมืองเป็นคนดีมีความสามารถ มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือเป้าหมายรูปธรรมของการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาต้องทำเพื่อคนทั้งประเทศ และก็ทำทุกภาคส่วน มิใช่แต่เพียงการศึกษาในสถาบันการศึกษาแบบฉบับคือ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะต้องเน้นหนักการศึกษาด้านทักษะให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการออกแบบใหม่ เน้นการกระจายอำนาจด้านการศึกษา เปลี่ยนบทบาทรัฐให้เป็นผู้กำกับนโยบายส่งเสริมให้การศึกษามีประสิทธิภาพ อำนาจจะไม่ได้อยู่ศูนย์กลางอีกต่อไป แต่เป็นการกระจายอำนาจไปในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ การจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวในแนวทางเดียวกับการประกันสุขภาพเพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสกระตุ้นการแข่งขันด้านคุณภาพทางการศึกษาด้วย         การปฏิรูปการศึกษามิใช่เน้นการทำให้เด็กสอบได้คะแนนดี แต่ควรเน้นการเรียนรู้ใหม่ในทางปฏิบัติ การบ่มเพาะความเป็นพลเมือง ธรรมาภิบาลทุกระดับให้เกิดสังคมร่มเย็น ให้เยาวชนเป็นคนเก่งและคนดี นอกจากนี้จะมีการดูแลเด็กปฐมวัย ซึ่งมีการทำงานหลายกระทรวงจึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนปัญหาเกี่ยวกับระบบครู ควรเร่งแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลที่เป็นอุปสรรค ปรับปรุงระบบการแข่งขันหรือการสอบ รวมทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่รองรับการกระจายอำนาจ และต้องมีกลไกตรวจ สอบเพื่อให้เกิดการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด