ปราชญ์จีนนับตั้งแต่ยุคพุทธกาล สอนเรื่องผลประโยชน์ว่ามี “ประโยชน์ใหญ่” กับ “ประโยชน์เล็ก”ประโยชน์ใหญ่คือประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองประโยชน์เล็กคือประโยชน์ส่วนตัวและสังคมรูปธรรมที่เป็นจริง สัจจะก็มีสัจจะใหญ่ สัจจะเล็ก ขงจื๊อสอนว่า “วิญญูชนคิดถึงสัจจะใหญ่ ไม่ถูกผูกมัดอยู่กับสัจจะเล็ก และท่านยังสอนอีกว่า “คำสัญญาถ้าหากสอดคล้องกับคุณธรรม คำพูดนั้นจึงจะปรากฏเป็นจริง” ความหมายคือ การรักษาสัจจะนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาคุณธรรม การรักษาสัจจะแต่เป็นไปเพื่อช่วยมารสร้างความเลว สัจจะนั้นก็ไม่มีความหมาย การกระทำของคนเรา ควรรักษาสัจจะใหญ่ที่ร้างประโยชน์ใหญ่ และการได้รับประโยชน์ ก็มีแต่ “ให้” ออกไปก่อน ก่วนจ้ง ปราชญ์แคว้นฉีก่อนสมัยขงจื๊อ สอนว่า “เข้าใจว่าการให้คือการได้รับ นี่คือหลักการปกครองอันมีค่าที่สุด” คัมภีร์“โจวซู” สอนว่า “ปรารถนาได้รับสิ่งใด ก็ต้องให้สิ่งนั้นออกไปก่อน” ปราชญ์จีนโบราณมิได้ปฏิเสธความเห็นแก่ประโยชน์ ประมุขหรือผู้นำก็ยังมีความเห็นแก่ประโยชน์อยู่ แต่ความเห็นแก่ประโยชน์ของผู้นำนั้น จะต้องเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ใหญ่ (ความสงบสุขของบ้านเมืองและประชาราษฎร์) มิใช่การเห็นแก่ประโยชน์เล็ก (ประโยชน์ส่วนตน) ปราชญ์ “หลูจื่อ” สอนว่า “พระเจ้าเหญาเลี้ยงดูคนชราไร้ที่พึ่ง พระเจ้าอี้ดูแลผู้เคยทำความผิด นี่คือเหตุผลที่ขัตติยะในอดีตสามารถเปลี่ยนความอันตรายให้เป็นความสงบสุข คือสาเหตุที่ท่านได้รับการรำลึกถึงมายาวนาน มีแต่อริยะบุคคลเท่านั้น ที่ละเลิกความเห็นแก่ตัว เพื่อรักษาประโยชน์ใหญ่” การเมืองควรเป็นการจัดสรรอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของมวลราษฎร แต่การเมืองไทยในอดีตมักกลายเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของตนและพวกพ้องด้านเดียว การเมืองในอุดมคติ ต้องการนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ใหญ่ นักการเมืองทั้งหมดเป็นคนเก่ง มีปัญญา แต่ทว่าบางคนพ่ายแพ้กับ “โลภ โกรธ หลง” ปัญญาที่มีจึงกลายเป็น “ปัญญาอันมืดมน” บางคนละโมบโลภมากจนฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงชาติโกงประชาชน บางคนเสื่อมเพราะสะกดกลั้นอามรณ์โกรธไม่ได้ บางคนเสื่อมเพราะความดุร้าย ใจโหด บางคนเสื่อมเพราะความอิจฉา ริษยา บางคนเสื่อมเพราะโมหะความหลงผิด หลงยึดความเชื่อในลัทธิผิด ๆ บางคนเสื่อมเพราะความไม่รู้จักพอในกามคุณประพฤติผิดจรรยาบรรณครอบครัว บางคนเสื่อมเพราะความรักลูก ปกป้องลูกจนเสื่อมเสียชื่อเสียง บางคนเสื่อมเพราะไม่สำรวมวาจา สรุปแล้ว ปัญญาที่มิได้เห็นแก่ “ประโยชน์ใหญ่” ก็คือปัญญาอันมืดมิด ซึ่งอาจเทียบกับหลักพุทธศาสนาว่าคือ “อวิชชา” นั่นเอง