ทองแถม นาถจำนง ช่วงท้ายของตอนที่แล้ว ข้าพเจ้าคัดคำอธิบายเกี่ยวกับรัฐฟูนันจากวิกิพีเดียมาลงไว้มิได้เห็นด้วยกับเขาทั้งหมดหรอกครับ มีส่วนที่ขอติงเอาไว้ เช่น ประเด็นแรกที่ วิกิพีเดีย บอกว่า “ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”คงยังฟันธงไม่ได้ว่า “ฟูนัน” เป็นรัฐแรก เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรอกครับ เพราะ 1.เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันกินความกว้างมาก 2.ถึงจะอ้างจดหมายเหตุจีนยุคสามก๊กซึ่งเก่าจริง แต่ก็มีบันทึกที่เก่ากว่าคือ “ฮั่นซู” บันทึกถึง “เพียวกั๋ว” ซึ่งนักวิชาการคาดว่าเป็นรัฐในดินแดนพม่าปัจจุบัน คือรัฐของพวกพยู น่าเชื่อว่า “เพียวก๊ก” ในยุคราชวงศ์ฮั่นก่อนสามก๊กนั้น พัฒนาต่อมาเป็นแคว้น “ศรีเกษตร” ในยุคต่อมา ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด ก๊กฟูนันก็มิใช่ก๊กเก่าแก่ก๊กเดียวในตะวันออกเฉียงใต้ประเด็นที่สองคือเรื่องที่ วิกิพีเดีย บอกว่า (ฟูนัน) “ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี”คนโบราณมีความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวและการทดน้ำดี ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่เถียง แต่ข้าพเจ้าสงสัยความหมายของคำว่า “รัฐชลประทาน” และ “ใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี”การ “พัฒนาเป็นอย่างดี” นั้นมีรูปธรรมว่า มีระดับเทคโนโลยีสูงเพียงใด คนทั่วไปเมื่ออ่านพบคำว่าระบบชลประทานเข้า ก็มักจะนึกจินตานาการไปว่าเป็นแบบระบบชลประทานที่เครือข่ายสมบูรณ์อย่างในปัจจุบันสมัย ข้าพเจ้าเชื่อเรื่องคนโบราณมีความรู้เรื่องชลประทาน แต่ถ้าจะฟันธงว่า “ฟูนัน” มีระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี” ข้าพเจ้ายังสงสัย พื้นที่ปากแม่น้ำโขงมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ต้องวางระบบคลองชลประทานอะไรนัก ก็สามารถเพาะปลูกข้าวได้อุดม และความเป็นจริงก็คือยังไม่พบระบบเครือข่ายคลองชลประทานที่พัฒนาดีแล้ว แม้แต่ในยุคพระนครหลวง (นครวัด นครธม)ในยุคนครวัดนครธม มี “บาราย” ใหญ่โตมหึมา มีแต่คลองส่งน้ำเข้าไปในเมือง การตรวจสอบทางอากาศในยุคนี้ ยังไม่พบเครือข่ายคลองส่งน้ำ ระบายน้ำ รอบนอกเมืองอันเป็นพื้นที่เพาะปลูกเลย
แผนที่เสียมเรียบ
"แผนที่เสียมเรียบ"
ทุกวันนี้ นักวิชาการฝรั่งจึงตั้งข้อสงสัยว่า ยุคพระนครหลวงไม่มีระบบชลประทานที่พัฒนาดี ข้าพเจ้ามองว่า ในสมัยโน้น ยังไม่จำเป็นต้องขุดคลองสร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบแบบ เพราะภูมิประเทศสมัยโบราณมีทางน้ำมากมายมหาศาล ทั้งทางใหญ่และเล็กทางน้อย นำน้ำไปถึงพื้นที่เพาะปลูกได้สะดวกอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องวางแผนขุดคลองเครือข่ายเป็นระบบให้เหนื่อยขึ้นอีก หรือถ้าคิดมากขึ้นไปอีก ก็อาจจะบอกว่า การขุดบาราย – บึงขนาดยักษ์นั้น ไม่ใช่ขุดเพื่อการชลประทานเพาะปลูก ต้องมี“บาราย” เพียงเพราะว่ามันเป็นเครื่องหมายเป็นแหล่งน้ำรายล้อมเขาพระสุเมรุ(ใจกลางเมืองของกษัตริย์ผู้เป็นเทพเจ้า) ถ้ามีคำถามว่า ถ้าฟูนันไม่ใช่รัฐที่มีระบบชลประทานพัฒนาดีแล้ว ฟูนันจะสมบูรณ์แข็งแกร่งมีอำนาจอิทธิพลสูงไดอย่างไร ข้าพเจ้าขอตอบว่า อำนาจแท้จริงของฟูนันอยู่ที่ “การค้าทางทะเล” มิใช่อำนาจทางการเกษตรครับไหน ๆ พูดถึงเรื่อง “บาราย” ว่ามิใช่ทำเพื่อการเพาะปลูกทำนาแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังเล่าประวัติศาสตร์ไปไม่ถึงยุคพระนคร แต่ก็ขอนำเอาทัศนะเรื่อง “บาราย” ของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอ้างสักหน่อย ท่านว่า “นครวัดเป็นปราสาทหินสามชั้น มีคูล้อมรอบกว้างประมาณ 200 เมตร และคูนั้นขุดไปโดยรอบนครวัด ซึ่งมีเนื้อที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 1300 เมตร และยาว 1500 เมตร ฉะนั้น คูซึ่งใช้แรงงานคนขุดโดยปราศจากเครื่องทุ่นแรงใด ๆ นั้น เมื่อดูด้วยตาเปล่าจึงเท่ากับแม่น้ำสายหนึ่งดี ๆ นั่นเอง รอบ ๆ คูนั้นลงเขื่อนด้วยศิลาแผ่นใหญ่ ๆ เขื่อนรอบคูนั้นคิดแล้วยาว 10 กิโลเมตร และสูงถึง 3 เมตร มีบันไดลงไปในคูได้เป็นระยะ ๆ ไป เรื่องขุดคูล้อมรอบปราสาทนี้เป็นธรรมดาของสถาปัตยกรรมของขอมเมื่อสมัยพันปีมาแล้ว เพราะวิญญาณขอมศิลปะขอมสมัยนั้นคือวิญญาณที่โอ่อวด วิญญาณที่รักและบูชาตัวเอง คูที่เต็มไปด้วยน้ำใสนั้น จึงเป็นประดุจกระจกเงาที่คอยส่งหน้าปราสาทให้แลเห็นเงาของตนเองอยู่เป็นนิตย์ แต่นอกจากด้านความสวยงามแล้ว ดูยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปราสาท เพราะดินที่ขุดจากคูนั้น ได้ใช้มูนขึ้นไปเป็นภูเขา และอาศัยภูเขาดินนั้นเป็นฐานปราสาทอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้เพราะปราสาทขอมส่วนมากนั้นผู้สร้างเจตนาจะสร้างให้เป็นเขาพระสุเมรุอันเป็นเทวาลัยที่แท้จริงในศาสนาพราหมณ์ ในครั้งแรกการสร้างปราสาทของพวกขอมโบราณจึงต้องหาภูเขาจริง ๆ เป็นรากฐานเสียก่อน เช่นที่เขาพระวิหารในประเทศไทย หรือที่พนมบาเคงใกล้ ๆ เสียมเรียบ อันเป็นปราสาทหินในสมัยต้น
แผนผังพระนครหลวง
"แผนผังพระนครหลวง"
แต่ต่อมาภูเขาจริง ๆ นั้นหมดไป ถึงจะยังมีบ้างก็ไกลบ้านไกลเมือง ไม่สะดวกแก่การที่จะไปสร้างปราสาท ผู้สร้างปราสาทรุ่นต่อมาจึงต้องขุดคูเพื่อเอาดินมูนขึ้นไปเป็นภูเขา แล้วเอาหินก้อนใหญ่ ๆ มาสร้างปราสาททับลงไปบนมูนดินที่กองขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ยิ่งปราสาทนั้นยิ่งกว้างเท่าไร และมีมากชั้นเท่าไร คูนั้นก็ยิ่งจำเป็นต้องกว้างขึ้นไปมากเท่านั้น เพราะต้องการดินมาก เมื่อปราสาทที่ตั้งใจจะให้เป็นเขาพระสุเมรุนั้นเสร็จลง และเพื่อความสวยงามและด้วยความจำเป็น ก็ต้องมีคูล้อมรอบ ปราสาทนั้นจึงกลายเป็นเขาพระสุเมรุตั้งอยู่กลางน้ำ แต่เขาพระสุเมรุจริง ๆ ในไสยศาสตร์นั้น ตามปกติมิได้ตั้งอยู่กลางน้ำ มีอยู่ตอนเดียวที่เขาพระสุเมรุตั้งอยู่กลางน้ำ ก็คือตอนที่พระนารายณ์หยิบเอามาตั้งไว้เพื่อกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต ผู้สร้างปราสาทขอมก็คงคิดถึงเขาพระสุเมรุกลางน้ำในแง่นี้เหมือนกัน ฉะนั้นจึงมักจะประดับประดาปราสาทหินต่าง ๆ ให้เข้ารูปเขาพระสุเมรุตอนกวนเกษียรสมุทร ด้วยวิธีสลักรูปหินโต ๆ เป็นรูปเทวดากับอสูรกำลังฉุดนางนาคตอนกวนเกษียรสมุทรไว้แทนราวสะพานของสะพานหินที่ข้ามคูเข้าปราสาท เพื่อบอกให้คนต่อมาได้รู้ว่าประเทศที่สร้างขึ้นนั้นเป็นเขาพระสุเมรุ และเพื่อให้รับกับคูน้ำซึ่งจำเป็นต้องขุด ซึ่งได้สมมุติให้เป็นเกษียรสมุทรไปแล้ว รูปเทวดากับยักษ์ฉุดนาคฝ่ายละข้างนี้มีอยู่หลายแห่ง และทุกแห่งจะมีเทวดาข้างละ 54 ตน และยักษ์ข้างละ 54 ตน บวกกันเข้าแล้วก็เป็น 108 เป็นเลขมงคลพอดี” ข้าพเจ้าคิดแตกต่างไปจากนักวิชาการอื่น ๆ คือข้าพเจ้าสรุปว่า บารายรอบเมืองนั้นขุดเพื่อให้ตัวเมืองเหมือนเขาพระสุเมรุ และเป็นแหล่งน้ำใช้ของคนในตัวเมือง ส่วนคูน้ำรอบปราสาทหินนั้นขุดเพื่อนำเอาดินมามูนทำภูเขาพระสุเมรุ