ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยสอนไว้ว่า นักหนังสือพิมพ์ควรมี “ปลิโพธ” คือต้องมีอะไรเหนี่ยวรั้งไว้บ้าง ไม่ควรจะใช้เสรีภาพเขียนอะไรตามใจตนเองทั้งหมด เรื่องบางเรื่องอาจเสียหายต่อชาติต่อประชาชนในองค์รวม เขียนแล้วชาติประชาชน “เสีย” มากกว่า “ได้” โดยเฉพาะเรื่องที่โยงใยกระทบกระทั่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับภิกษุสงฆ์ ย่อมกระทบกระเทือนต่อสถาบันพุทธศาสนา สร้างความเศร้าหมอง หม่นใจให้ชาวพุทธ แต่สื่อก็จำเป็นต้องรายงาน ซึ่งมวลชนพึงจำแนกแยกแยะปัญหาที่เกิดจากปัจเจกบุคคล เช่นภิกษุรูปใดรุปหนึ่ง กับเรื่องของสถาบันพุทธศาสนาโดยองค์รวม ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ใน “สยามรัฐหน้า 5” ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2515 เนื้อความตอนหนึ่งดังนี้ “เมื่อมีคนทำอะไรในสิ่งที่ไม่น่าทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเคารพนับถือและหวังดี ก็เห็นจะต้องบ่นกันบ้าง ผมเองเป็นคนนับถือพระ เวลาเข้าหาพระก็นอบนบกราบไหว้ด้วยความเคารพอันเกิดจากใจจริง เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินว่ามีพระเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง หรือประพฤติการใด ๆ ที่นอกลู่นอกทางไม่ควรที่พระจะประพฤติ ผมก็เกิดความเดือดร้อนทุกที ความเดือดร้อนนั้นก็เป็นความเดือดร้อนที่เกิดจากใจจริงเช่นเดียวกับความเคารพที่มีต่อพระ หมู่นี้พระเป็นข่าวบ่อย และเป็นข่าวที่ออกจะไม่ดีเสียด้วย... อ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเช้านี้ ได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อเณรองค์หนึ่งถูกตำรวจจับ ครับ หลวงพ่อเณรองค์ที่ลงสรงในขวดที่จังหวัดฉะเชิงเทรานั่นแหละ ตำรวจไปจับตัวมาจากกุฏิเจ้าคระจังหวัดชลบุรี แล้วนำตัวมายังโรงพักในกรุงเทพ ด้วยข้อหาว่าฉ้อโกงทรัพย์ หลวงพ่อเณรนั้นจะเป็นพระหรือเป็นเณรผมก็ไม่แน่ใจเสียแล้ว แต่ถ้าเป็นพระ และถ้าตำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวหา ก็เห็นจะต้องอทินนาปาราชิก เพราะทรัพย์ที่ตำรวจกล่าวหาว่าถูกฉ้อโกงนั้นมีจำนวนหลายหมื่นบาท เกินกว่าห้ามาสกเป็นแน่นอน เรื่องการประพฤติปฏิบัติของหลวงพ่อเณรองค์นี้ และองค์อื่น ๆ ผมเคยเขียนไปแล้วในหน้าหนังสือพิมพ์นี้ว่าเป็นเรื่องตลกไม่น่าเลื่อมใส ถึงอย่างนั้น พอรู้ข่าวว่าหลวงพ่อเณรถูกตำรวจจับ ผมก็อดเดือดร้อนไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน ข่าวที่ว่าตำรวจไปจับตัวมาได้จากกุฏิเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีนั้น ยิ่งทำให้เดือดร้อนขึ้นไปอีก เพราะแสดงให้เห็นชัดว่าหลวงพ่อเณรนั้นมีพระผู้ใหญ่ในพระศาสนาเป็นผู้คุ้มครอง คอยปกปักรักษาให้ ก็ถูกละครับ ท่าต้องทำไปด้วยความเมตตาอันเป็นวิสัยของพระภิกษุ… ผมสงสัยอยู่นิดเดียวว่า ความเมตตาซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ให้ความคุ้มครองแก่พระในการปกครองให้พ้นผิดจากข้อกล่าวหาต่าง ๆ โดยอาศัยผ้าเหลืองและความเคารพของชาวบ้านเป็นเครื่องคุมกันตัวให้พ้นผิดนั้น จะเป็นการรักษาพระศาสนาและเชิดชูพระศาสนาไว้ได้อย่างแท้จริงหรือไม่ พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งวินัยสงฆ์อันเป็นศีลปาฏิโมกข์ขึ้นถึง 227 ข้อ ตลอดจนศีลนอกปาฏิโมกข์อีกเป็นอันมาก ก็เพราะทรงฟังเสียงชาวบ้านตำหนิติเตียนพระภิกษุสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ พระธรรมวินัยเหล่านั้นเป็นเครื่องคุ้มครองให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรืองและบริสุทธิ์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ การที่พระภิกษุสงฆ์ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็ดี หรือสงฆ์เพิกเฉยต่อพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยก็ดี น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้พระศาสนาต้องเศร้าหมองทรุดโทรมไปเป็นแน่แท้”