ประเด็นปัญหาที่ว่า ต้นตอสำคัญของปัญหาทางสังคมมาจาก “ความเหลื่อมล้ำ” นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สังคมไทยพูดกันประเด็นนี้มานานแล้ว ประเด็นปัญหาที่กำลังเรียกร้องกันเรื่อง “ความเท่าเทียม” แล้วลากโยงไปว่า การโหวตเลือกตั้งหนึ่งคน หนึ่งเสียง นั้นแสดงถึง “ความเท่าเทียม” ก็มิใช่เรื่องใหม่อีกเช่นกัน สังคมไทยเราเคยพูดกันประเด็นนี้มานานแล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยสรุปไว้ว่า “สังคมเราทุกวันนี้มีเงินเป็นอำนาจ ตราบใดที่ความแตกต่างในฐานะเศรษฐกิจยังมีระดับอันเหลื่อมล้ำกันมากมายเช่นนี้ เงินก็มีอำนาจปิดปากได้ กำจัดเสรีภาพต่าง ๆ ได้ และใครขาดเงินก็ขาดโอกาสที่จะทำการได้เต็มที่ตามความสามารถของตน” (“ตอบปัญหาประจำวัน” วันที่ 2 ตุลาคม 2500) บางรัฐบาลก็อ้างการลดความเหลื่อมล้ำ เข้าไปกุมการดำเนินการทางเศรษฐกิจเสียเองโดยตรง หวังว่าจะช่วยให้พลเมืองผู้มีฐานะเศรษฐกิจไม่ดี เปลี่ยนแปลงมีรายได้สูงขึ้น อย่างการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าท้องตลาดของรัฐบาลเพื่อไทย มันมิใช่แค่ขั้นตอนรับจำนำ มันกลายเป็นว่า “รัฐ” เกือบจะผูกขาดการค้าข้าว เพราะรัฐเป็นผู้ซื้อข้าวเก็บไว้มากที่สุด แล้วสุดท้าย ต้องขาดทุนสาหัส การที่รัฐเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเองนั้น มันอาจจะเกิดผลดี หรือเกิดผลเสียก็ได้ ตัวชี้ขาดมันมิได้ชี้ขาดที่ระบบ หากแต่ชี้ขาดที่ “คน” ผู้ปฏิบัติ ต่างหาก ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจว่า “ผมพูดมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า การที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการทางเศรษฐกิจนั้น หากบุคคลที่มาประกอบกันเป็นรัฐ ยังมีความโลภ ยังพร้อมที่จะหาประโยชน์ใส่ตัวแล้ว ก็ยิ่งร้ายหนักขึ้นไปอีก เพราะราษฎรจะกลายเป็นทาสของรัฐ หรือบุคคลที่เป็นรัฐนั้นไป ด้วยเหตุนี้เมืองไทยจึงยังทำไม่ได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะนั่งงอมืองอเท้า ปล่อยไปตามยถากรรม ระยะเวลานี้เป็นระยะเวลาที่จะต้องสร้างคนดี เป็นเวลาที่จะต้องชำระล้างบ้านเมืองให้บริสุทธิ์” แนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทัดเทียมทางเศรษฐกิจนั้น นักวิชาการ,นักการเมือง เขียนวิธีการเสนอกันไว้มาก แต่เชื่อเถิด ถ้าไม่มีคนที่กลัวบาปกลัวกรรมเข้ามาทำ ก็ไม่มีทางสำเร็จ