การสำรวจโพลในช่วงปีใหม่ มักจะตั้งคำถามให้ผู้ตอบประเมินผลงานด้านต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งก็ไม่พ้นที่จะวนเวียนอยู่ในด้านการเมืองการปกครองกับเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง คำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมก็มักเป็นคำถามกว้างๆ ที่เป็นนามธรรมเลื่อนลอย ปฏิรูปประเทศ จะปฏิรูปอะไร? สภาที่ทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปเองก็ดูเหมือนจะไม่แจ่มชัดนัก เราฟันธงไปเลยว่า การปฏิรูปที่ได้ผลคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพคนไทย คือการปฏิรูปความคิด ซึ่งมีงานด้านวัฒนธรรมเป็นแก่นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนย่อมจะมองว่างานด้านวัฒนธรรมเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องรองเสมอโดยทั่วไป ผู้คนย่อมจะมองว่าปัญหาเศรษฐกิจคือเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องปากท้องการดำรงชีวิตของผู้คน รายได้จากการส่งออกของประเทศตกต่ำ ถ้าตัวเลข GDP ต่ำ ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำ พลเมืองไทยจะวายวอด ! อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปตรวจสอบดูเถิดว่า ช่วงที่ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยสูงมากนั้น คนชั้นล่างคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพียงใด? ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยมันเป็นตัวชี้ขาดคุณภาพชีวิตจริงหรือ? โดยทั่วไป ผู้คนย่อมจะมองว่า ปัญหาการเมืองการปกครองคือเรื่องใหญ่ เพราะการเมืองการปกครองเป็นตัวจักรในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม สิทธิเสรีภาพของพลเมือง การรักษาความสงบ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ แต่ลองย้อนไปดูว่า หกสิบปีที่ผ่านมา การปกครองประเทศไทยผ่านมาทั้งแบบรัฐบาลทหารคณาธิปไตยและประชาธิปไตยเลือกตั้ง ปัญหาสังคมทุกด้านหนักหน่วงรุนแรงขึ้นหรือเบาบางลง? ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองที่ผ่านมาหกสิบปี มีบกพร่องผิดพลาดเพราะอะไร? เป็นปัญหาน่าค้นคิด มันบกพร่องผิดพลาดเพราะเราทอดทิ้งงานวัฒนธรรมหรือเปล่า? ลองถามตัวเราเองว่า อะไรคือหลักเกณฑ์ในการตัดสินความดีความเลว? ประเด็นนี้เป็นตัวอย่างรูปธรรมของงานด้านวัฒนธรรมตัวอย่างหนึ่ง ศาสนาทุกศาสนาสอนให้มนุษย์ "ทำความดี อย่าทำความชั่ว" แต่ในทางปฏิบัติ คนเรามีหลักเกณฑ์ตัดสินว่าอะไรดี อะไรชั่วแตกต่างกันมาก ในบางสังคมมีความแตกต่างกันมากจนสังคมแตกแยกบาดหมาง ทำร้ายกัน ทั้งๆ ที่มาตรฐานความดีกับความชั่วของมนุษย์นั้น ควรจะมีบรรทัดฐานใกล้เคียงกันมิใช่หรือ ! มาช่วยกันค้นหา "หลักเกณฑ์ในการตัดสินความดีความเลว" ที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานของสังคมไทยกันเถิด !