การวิเคราะห์ปัญหาสังคมของนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงหลาย ๆ ท่าน รวมถึงนักการเมืองด้วย ล้วนกล่าวอ้างถึงปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ”ในสังคมว่าเป็นต้นตอของปัญหาส่วนใหญ่ ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” นั้น คนส่วนมากก็มักจะพุ่งไปที่ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” เป็นอันดับแรก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายก็จริง แต่ไม่ควรลืมว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นผลพวงที่ก่อเกิดจากปัญหาระดับรากที่ลึก เช่น เรื่องโครงสร้างสังคม , สิทธิและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอันเป็นของส่วนรวม เป็นต้น เศรษฐกิจระบบทุนนิยมปฏิเสธ “ความเป็นสิทธิ์ส่วนรวมของทรัพยากร” ระบบทุนนิยมทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “ธรรมชาติ” ด้วยระบบสิทธิครอบครองแบบปัจเจกชน ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยการผลิตและรากฐานการดำรงชีวิตที่สำคัญสำหรับคนทุกคน แต่ในประเทศไทยการครอบครองที่ดินยังกระจุกตัวอยู่ในมือคนส่วนน้อย ทรัพยากรธรรมชาติถูกผูกขาดการใช้ประโยชน์โดยข้ออ้างสัมปทานของรัฐ การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม และจะหมดสิ้นไปในอนาคตอันใกล้ ที่น่าห่วงคือจะก่อเกิดทลพิษทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายสุขภาพของผู้คนทิ้งไว้ยาวนาน ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านมีความตื่นตัวรับรู้ปัญหานี้ในระดับหนึ่ง บางแห่งสามารถรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมประเด็นเหล่านี้ได้ แต่ก็มักจะถูกอำนาจทุนและอำนาจรัฐร่วมมือกัน “จัดการ” ทำลายการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ปัจจุบันมีข้อพิพาทความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและทรัพยากรระหว่างรัฐกับชุมชน ระหว่างเอกชนกับเกษตรกรที่ไม่เป็น “ข่าว” มากมาย และในอนาคตอันใกล้ก็คงจะเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิชุมชุนเกิดขึ้นีกมาก เพราะรัฐไทยแทนที่จะเป็นหัวหอกป้องกันรักษา “สิทธิชุมชน” แต่กลับกลายเป็นผู้ละเมิด ทำลาย “สิทธิชุมชน” เสียเอง โดยหลักประชาธิปไตยที่ทุกรัฐบาลเชิดชูด้วยปากนั้น รัฐต้องให้ความสำคัญกับ “สิทธิชุมชน” การมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึง การจัดการ และการได้รับประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องเคารพสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญโดยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบด้าน ทั้งในระดับแผนพัฒนาระดับพื้นที่จังหวัดและต่ำกว่าจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกมหาอภิโครงการที่ใช้เงินหลายแสนล้านบาท หลายล้านล้านบาท แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลมักชอบทำในสิ่งตรงข้าม และเรื่องนี้แหละที่เป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ที่ทุกฝ่ายอวดนักหนาว่ากำลังช่วยกันแก้ไขปัญหา