ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและกระแสแสดงความไม่พึงพอใจ เป็นปรากฏการณ์ของกระแสมวลชนต่อประเด็นระบอบเสรีประชาธิปไตยเลือกตั้ง เรื่องนี้อาจทำให้บางคนตื่นเต้นเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรป โดยเฉพาะกรณี ฝรั่งเศส และเยอรมนี อันจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลกสากลอย่างมาก ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจจะเป็นปรากฏการณ์สร้างความประหลาดใจขึ้นอีกก็ได้ อันที่จริงนักคิด นักทฤษฎีทางสังคมได้วิเคราะห์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทั่วโลกไว้แล้วตั้งแต่เกือบยี่สิบปีมาแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่มวลชนทั่วไปจะไม่สนใจเรื่องวิชาการ นักทฤษฎีมองเห็นมานานแล้วว่า “ระบบประชาธิปไตยแบบเก่า” จะกลายเป็นสิ่งล้าหลัง ตกสมัย สังคมโลกจะเกิดระบบการเมืองใหม่ นักคิดชาวเยอรมนี Alexander King และ Bertrand Schneider เสนอแนวคิดไว้ตั้งแต่ปี 1992 ว่า ระบบประชาธิปไตแบบเก่าที่เคยใช้การได้ในระยะร้อยปีสุดท้าย ขณะนี้ได้มาถึงจุดชะงักงันเสียแล้ว เพราะฝ่ายนำทางการเมืองปราศจากทิศทางที่ชัดเจน และขาดวิญญาณสร้างสรรค์ เพราะระบบประชาธิปไตยที่ยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาสถาปนาจากการต่อสู้ทางชนชั้นและสงครามอิสรภาพ สังคมขณะนั้นยังไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนทั้งด้านภายในประเทศและนอกประเทศ แต่วันนี้ระบบเศรษฐกิจและการสื่อสารโทรคมนาคมถักทอโลกเป็นเครือข่ายที่อ่อนไหว ทำให้รัฐต่าง ๆ ขาดฐานอำนาจในการรักษาอธิปไตยไว้ได้ดังเมื่อห้าสิบปีก่อน เครื่องไม้เครื่องมือของรัฐเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพ แทบจะหมดประสิทธิภาพการใช้งานแล้ว จึงไม่แปลกอันใด ที่ประชาชนอเมริกัน ชาวอิตาเลียน ชาวเยอรมัน ชาวอังกฤษ ชาวญี่ปุ่น ไม่พอใจพรรคการเมือง นักการเมือง และรัฐบาลของตน...” (จากหนังสือ “ทฤษฎีไร้ระเบียบกับทางแพร่งของสังคมสยาม” : ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์) ทางประเทศอังกฤษในช่วงเดียวกันนั้น Anthony Gidden ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่ง ลอนดอน ก็เสนอแนวคิด ( ในหนังสือ The third way) เกี่ยวกับ “การปฏิเสธความเป็นการเมือง” (Depoliticization) ว่า กระบวนการปฏิเสธความเป็นการเมือง กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนการต่อสู้ทาง การเมืองนั้นก็เดินออกจากรัฐสภาไปสู่กลุ่มผลประโยชน์ย่อย (single-issue groups) ในสังคม การเมืองแบบทางการอยู่ในสภาพเดียวกับกลไกรัฐที่ตายซาก ขณะที่การเมืองแบบใหม่เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ไม่ต่างจากการยึดอำนาจรัฐโดยสังคมพลเมือง โดยที่ไม่เพียงแต่สถาบันการเมืองแบบรัฐสภาเท่านั้นที่ไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป ข้อสังเกตุของ Gidden ก็คือ สถาบันที่เป็นทางการอื่น ๆ เช่น ตำรวจ แพทยสภา สมาคมนักกฏหมาย ฯลฯ ก็ล้วนอยู่ในสภาพเดียวกันทั้งหมด ปรากฏการณ์ใหม่ ๆ นี้ นักวิเคราะห์อนาคตเห็นคล้ายกันว่า มันมิได้เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมือง (ซ้าย-ขวา แบบดั้งเดิม) แต่เกิดขึ้นจากส่วนผสมใหม่ที่ไม่เคยปรากฏ(ส่งผลร่วมกันใกล้ชิด)มาก่อน คือมาจากปัจจัยทั้งด้านภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา เทคโนโลยี ประสมประสานกันสลับซับซ้อนมากกว่าสมัยก่อนมากมาย จนนำไปสู่สถานการณ์และปัญหาใหม่ ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ และยังไม่มีแนวทางว่าจะฝ่าฟันข้ามพ้นมันได้อย่างไร ?