รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล อีกเพียง 2 วัน เดือนมกราคมก็จะผ่านไปแล้ว ไม่น่าเชื่อวันเวลาจะผ่านไปอย่ารวดเร็ว ทั้งนี้ ข่าวคราวเดือนมกราคมมีมากมาย โดยเฉพาะ “การสาบานตนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” พร้อมทั้งชาวอเมริกันต่างประท้วงการขึ้นสู่บัลลังค์ตำแหน่งประธานาธิบดีทั่วทุกเมืองในสหรัฐอเมริกา เฉพาะกรุงวอชิงตัน ดี ซี มีประชาชนประท้วงเกือบล้านคน และตามด้วยการรื้อฟื้นคดีต่างๆ ของนายทรัปม์ที่อดีตได้กระทำมา โดยเฉพาะการประท้วงกรณี “การดูหมื่นสุภาพสตรี!” ถามว่า การดำรงตำแหน่งของนายทรัมป์นั้นจะสามารถผ่านพ้นไปได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “100 วันของประธานาธิบดีทรัมป์” นั้นกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และเฝ้าจับตามองอย่างมากของชาวอเมริกันและชาวโลก เท่านั้นยังไม่พอ การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวสุนทรพจน์ดูถูกบรรดาสื่อมวลชนว่า “เป็นมนุษย์ที่ไม่ซื่อสัตย์” หรือ “THE MOST DISHONEST HUMAN BEING!” โดยสื่อมวลชนต่างตั้งท่าและตั้งป้อมคอยโจมตีตลอดเวลา เรียกว่า “ถ้านายทรัมป์พลาดเมื่อไหร่...โดนแน่!” และขณะเดียวกัน เราต่างค่อนข้างมั่นใจว่านายทรัมป์นั้น “นอนไม่หลับ” อย่างแน่นอน และที่สำคัญการที่ประกาศยกเลิกทีพีพีหรือ “แทรนด์แปซิฟิคพาทร์เนอร์ชิบ (TRANS PACIFIC PARTNERSHIP)” นั้นระยะยาวอเมริกาจะเสียหายมาก เนื่องด้วยอีก 11 ประเทศต่างเพ่งมองไปที่จีนเพื่อชวนให้เป็นประเทศแนวหน้าในการนำ TPP แถมด้วย “การขู่สนธิสัญญาการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือ NAFTA” ว่าอาจจะยกเลิกกับประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ถ้าไม่เลิกเอาเปรียบอเมริกา โดยต้องการให้ชาวอเมริกันมีงานทำเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ต้องเรียนว่า แทบทุกกรณีแม้กระทั่งอาจยกเลิกการค้าการลงทุนกับจีนอาจจะสร้างปัญหาให้กับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน จนนายทรัมป์อาจอยู่ไม่ครบสมัยแรกก็เป็นได้! อย่างไรก็ตาม อยากสนทนากับแฟนๆ ท่านผู้อ่านกรณี “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” หรือ “ทุจริตคดโกง” กรณีทั้ง “บริษัทโรลส์ รอยซ์” ที่เขียนเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะให้กับ “การบินไทย” พร้อมทั้ง “กรณี เคเบิ้ล” ที่ขายให้กับ “ปตท.-การไฟฟ้านครหลวง-การไฟฟ้าภูมิภาค” ที่บังเอิญมาอึกครึกโครมในช่วงนี้! จริงๆ แล้วการเผยแพร่กรณี “การคดโกง-จ่ายใต้โต๊ะ” ที่เพิ่งจะโผล่มา ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 หรือหลังจากนั้น ซึ่ง “กองทัพอากาศ” มิได้เกี่ยวของกับ “การบินไทย” แล้ว แต่เป็นกรณีที่พรรคการเมืองได้เข้ามามีบทบาท จึงเป็นกรณีที่อาจเป็น “วิกฤติ” ที่น่าจะสร้างโอกาสให้ “ภาครัฐ” ที่มุ่งเน้น “การปราบโกง” หรือ “สร้างหลักธรรมาภิบาล” จึงอาจเป็นกรณีชูประเด็นนี้ว่า “นี่แหละถึงได้มีคสช.!” สัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง (เอสเอฟโอ) ของอังกฤษ แถลงว่า “บริษัทโรลส์ รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์-เครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ” ยินยอมที่จะจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คือ “อังกฤษ-สหรัฐฯ-บราซิล” บีบีซีรายงานว่า คดีติดสินบนของโรลส์ รอยซ์ ถูกตรวจพบโดยเอสเอฟโอ ที่พบถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนและอินโดนีเซีย ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน กระทั่งตรวจสอบพบว่า โรลส์ รอยซ์ ได้มีการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง ในการติดสินบนและคอร์รัปชั่นในหลายประเทศด้วยกัน โดยบริษัทโรลส์ รอยซ์ ได้ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานในหลายประเทศ ซึ่งก็มี “ไทย” รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ บีบีซี อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่เอสเอฟโอผู้หนึ่งเปิดเผยว่า เงินสินบนบางส่วนได้จ่ายให้เป็นรายบุคคล มีทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์ รอยซ์ โดยเอสเอฟโอระบุว่า โรลส์ รอยซ์ ได้จ่ายเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่านายหน้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย ในช่วงปี 2534 – 2535 และอีก 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของการบินไทย ในช่วงปี 2535-2540 และอีก 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย และพนักงานของการบินไทยในช่วงปี 2547 – 2548 โดยรวมเงินที่จ่ายค่าสินบนในไทยทั้งสิ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2534-2540 เป็นเงินทั้งสิ้นราว 36.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยคดีรองอธิบดีกรมสำคัญกรมหนึ่งของกระทรวงพาณิย์ได้ขโมยภาพวาด จนอัยการเผยต้องใช้ทนายญี่ปุ่นว่าความ จนในที่สุดปลัดพาณิชย์ ยอมรับมีข้าราชการระดับรองอธิบดีถูกจับกุมที่ประเทศญี่ปุ่นจริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานขั้นตอนทางกฎหมาย-อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ระบุต้องใช้ทนายของญี่ปุ่นว่าความให้ สื่อท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเกียวโต ได้เข้าควบคุมตัวชายไทยต้องสงสัยเป็นผู้ขโมยภาพวาดในโรงแรม และจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุเป็นข้าราชการระดับรองอธิบดีคนหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์นั้น จริงๆ แล้วเป็นกรณีเรื่องส่วนตัวของผู้ขโมย ซึ่งเหลืออายุราชการเพียงไม่กี่เดือน ต้องเรียนตามตรงว่า “น่าจะเป็นโรคจิต” อย่างมากที่อุตสาห์ขโมยภาพในโรงแรม โดยไม่รู้เลยหรือว่า “เขาติดกล้องอยู่!” ทั้งกรณี “บริษัทโรลส์ รอยซ์” และ “บริษัทเคเบิ้ล” นั้น ตามด้วย “รองอธิบดีฯ” ที่มีการเปิดเผยถึง “พฤติกรรมการโกง” เช่นนี้ ต้องเรียนว่า มันอาจเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในที่สุดถูกจับได้ และเพิ่มเปิดเผยจนน่าอับอายจริง อย่างไรตาม “รัฐบาลปัจจุบัน-คสช.” เอาจริงเอาจังมากกับ “การปราบโกง” จนแม้กระทั่งประชาชนเบื่อหน่าย ออกความคิดเห็นผ่านการสำรวจว่า “น่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง!”...เฮ้อ!