ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] ปฏิรูปการเมือง คงต้องปฏิรูปที่ตัวนัการเมืองเองก่อน เพราะประชาชนต้องจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน แก่ผู้ช่วย ส.ส. ผู้ชำนาญการ และผู้เชี่ยวชาญประจำตัวอีกกว่า 2,100 คน จาก ส.ส. 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน เลิกได้หรือยังกับความคิดเดิมๆที่ว่าเป็น ส.ส. จังหวัดหรือภาคตใดกวาด ส.ส.. มาได้กี่คน ต้องได้เก้าอี้รัฐมนตรี จนมีกันหลายกลุ่ม หลายพวก ยังไม่ค่อยเห็นมีใครว่าจะได้ ส.ส. มาอยู่ในมุ้งสักกี่คน แต่ไม่ยอมเรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น ส.ส.ของประชาชนทั้งประเทศ ดังเช่น ส.ส.ชัชวาลย์ คงอุดม ที่ยึดอุดมคติดังเช่น นสพ.สยามรัฐ เพียงคนเดียวที่ไม่ยอมเรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดๆตอบแทน นักการเมืองควรต้องระลึกว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนของท่านมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ ท่านต้องทำประโยชน์ให้ประชาชนทั้งประเทศเช่นกัน มิใช่มาเกี่ยงงอนตำแหน่ง อยากนั่งกระทรวงใหญ่ๆมีงบประมาณมากๆหรือมีโอกาสอื่นๆ หวังอะไรกันครับ นอกจากจะหาโอกาสหารับประทานกับงบประมาณและโครงการเหล่านั้น จิตสำนึกนี้ควรต้องมีในจิตใจของนักการเมืองทุกคน การปฏิรูปการเมืองจึงจะถึงฝั่ง เพราะภาษีประชาชนที่มาหล่อเลี้ยงประเทศมีเพียง 4.5-5 ล้านคน เท่านั้น จากประชากร 65 ล้านคน นอกนั้นอีกประมาณ 6 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนเสียภาษีไว้ ไม่ต้องเสียภาษีหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว คงเหลือประชาชนเพียง 4.5-5 ล้านคน ที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายภาษีเป็นค่าตอบแทนให้ ในขณะที่รัฐต้องจ่ายผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านคน เดือนละ 500-600-700 บาท/คน ตกเดือนละ 4-5 พันล้านบาท ปีละ 4.8 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าคนจนมีมากกว่าคนที่จะเสียภาษีให้รัฐเสียอีก ส.ส. และ ส.ว. 750 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 113,500 บาท ต้องจ่ายภาษีให้กับ ส.ส. และ ส.ว. ที่เราเลือกเข้ามาและที่รัฐบาลสรรหาเอาเองตกเดือนละ 86 ล้านบาท หรือปีละ 1,020-1,050 ล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ช่วย สส.5 คน ผู้ชำนาญการ 2 คน และผู้เชี่ยวชาญอีก 1 คน เฉลี่ยเดือนละ 129,000 บาท ประชาชนต้องจ่ายให้ค่าตอบแทนให้กับลูกมือของ ส.ส.ฐ และ ส.ว. เดือนละ 92 ล้านบาท หรือปีละ 1,140 ล้านบาท รวมแล้วต้องช่วยกันจ่ายภาษีให้คณะที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเดือนละ 177 ล้านบาท หรือปีละ 2,124 ล้านบาทที่เดียว นอกเหนือกจากนี้ ยังต้องจ่ายเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าเดินทาง ค่าเครื่องบินในประเทศที่ไม่จำกัดจำนวนครั้งและจุดหมายปลายทาง โดยเรียกเก็บเงินจากรัฐสภาอีก ก็คือภาษีของประชาชนนั่นเอง แถมยังมีสวัสดิการเงินบำนาญเมื่อพ้นตำแหน่งอีกด้วย การแต่งตั้งผู้ช่วย ส.ส./ส.ว. จำนวน 8 คน ต่อ ส.ส.และส.ว. 1 คน ส่วนใหญ่มักจะไม่พ้นญาติพี่น้อง ลูก ส.ว. ลูกเขย ภรรยา ลูกสะใภ้ น้อง หรือญาติสนิทเข้ามาทั้งนั้น เท่ากับว่าปีหนึ่งๆต้องจ่ายภาษีให้ ส.ส./ส.ว. กับเครือญาติเขาปีละกว่า 2 พันล้านบาท การเป็น ส.ส./ส.ว. ก็ทำเพื่อหน้าที่พัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนๆ ตอบแทนค่าภาษีอากรให้ แต่มาตั้งกลุ่มตั้งก๊วน มีแง่งอนไม่เอากระทรวงนั้นกระทรวงนี้กันอยู่ เห็นทีต้องให้ประชาชนที่เสียภาษีให้ออกมาผลักดันกระมัง ฟังจากนายกรัฐมนตรีแล้ว คงสยบปัญหามุ้งต่างๆได้แล้ว คงตั้งรัฐบาลได้ แต่อยากเห็นการปฏิรูปการเมืองกันใหม่ ได้นึกถึงผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับ กับความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เสียภาษีให้และสำนึกถึงเป็น ส.ส./ส.ว. ของประชาชนทั้งประเทศ นั่นคือการปฏิรูปการเมือง