ดร.วิชัย พยัคฆโส [email protected] กรมสรรพากร จ่อชงครม.ไฟเขียวให้นิติบุคคล ที่ใช้หรือซื้อพลาสติกชีวภาพ 10 รายการ ได้รับการลดหย่อนภาษีได้ 1.25 เท่า ของค่าใช้จ่าย หวังกระตุ้นตลาดจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้วัสดุทดแทน ตามแผนแม่บทลดขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ให้เป็นผลสำเร็จ เป้าหมายของปี 2562 ลดและเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสาร OXO และไมโครบิต ส่วนเป้าหมายในปี 2565 ลดและเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงและพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก มติครม. เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ ออกมาตื่นตัวรับกับกระแสการลดใช้พลาสติก โดยเฉพาะการผลิตไบโอพลาสติก หรือพลาสติกชีวภาพ ที่ย่อยสลายง่าย มาใช้ทดแทน เนื่องจากไบโอพลาสติกมีราคาแพงกว่าพลาสติกทั่วไป 2-3 เท่าตัว จึงเป็นอุปสรรคต่อการนำมาใช้ทดแทน ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพมากขึ้น จะเสนอมาตรการจูงใจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมาย 10 รายการ ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จาน ชาม ถาดพลาสสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อ ส้อม มีดพลาสติก และหลอดกาแฟ ซึ่งสามารถให้ผู้ผลิตลดหย่อนภาษีได้ ภายในระยะเวลา 3 ปีรอบบัญชี ซึ่งได้เสนอแนวทางให้ครม. เห็นชอบในหลักการไว้แล้ว เพียงแต่จะเสนอให้มีมาตรการลดภาษีได้กี่เท่าเท่านั้น มาตรการนี้จะช่วยให้ลดขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยย่อยได้ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ 2,500 ไร่ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.2 ล้านตัน ถ้านำพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับให้ไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ เปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ ประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท มาตรการการใช้ไบโอพลาสติกจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดได้อย่างมาก เพราะปัจจุบันขยะมูลฝอยทั่วประเทศปี 2562 จำนวน 27.8 ล้านตัน นำกลับไปใช้ประโยชน์ 9.5 ล้านตัน (34) ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตัน เฉลี่ยปริมาณขยะต่อคน 1.15 กก./คน/วัน นับวันจะมีมากขึ้น ขยะที่เป็นถุงก๊อบแก๊บมีการใช้ทั้งระบบมากกว่าหมื่นล้านใบต่อปี ปัจจุบันมีมาตรการสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ ต้องซื้อถุงละ 1 บาท ถ้าไม่ต้องการซื้อให้นำถุงผ้าไปใส่ของเอง สำหรับผู้ประกอบการ 3,000 กว่ารายต้องปรับตัวเอง แม้ว่าจะมีการส่งออกเม็ดพลาสติกมากกว่า 3.3 แสนล้านบาท รวมถึงมูลค่าการใช้ภายในประเทศอีกแสนล้านบาท จึงนับเป็นมูลค่าสำคัญต่อจีดีพีของประเทศ ผมเห็นด้วยและขอสนับสนุนการไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลซึ่งไทยได้เสนอในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมาให้ทุกประเทศได้ช่วยกันดูแลท้องทะเลของตนเองให้สะอาดไม่เป็นพิษต่อสัตว์ทะเล และเห็นด้วยกับมาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติกแทน ซึ่งขณะนี้ได้มีการวิจัยเอาแป้งข้าวโพดกับแป้งมันสำปะหลังมาทดแทนอยู่บ้างแล้ว หากมาตรการนี้ทำได้สำเร็จ จะช่วยให้ประเทศไทยมีขยะที่เป็นพลาสติกน้อยลง พร้อมกับมีการย่อยสลายขยะอื่นๆ โดยใช้ 3R มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดภาวะโลกร้อน และประเทศไทยจะเป็นแบบอย่างของ Green Country ที่ได้รับความชื่นชมจากสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะผู้ริเริ่ม