ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศ 4.0 จะต้องพัฒนาส่วนที่ยังอ่อนแอให้เข้มแข็งขึ้นโดยเร็ว ธุรกิจทุนใหญ่นั้นไม่ต้องห่วง เขากลายเป็นทุนข้ามชาติไปแล้ว ที่ต้องห่วงคือรากฐานเศรษฐกิจจริงของชาวบ้านส่วนใหญ่ ซึ่งยึดโยงอยู่กับเศรษฐกิจระดับชุมชน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนนั้น ถ้าไม่ตรวจสอบคัดสรรกันให้ดีแล้ว กลับจะกลายเป็นการนำเอาทุนใหญ่ไปทำลายทางรอดของเศรษฐกิจชุมชนมากกว่า “เอสเอ็มอี” เป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสให้คนไทยได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจชุมชน ตามยุทธศาสตร์ประเทศนี้ “เศรษฐกิจชุมชน” (ที่ถูกต้อง) เป็นแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน     เศรษฐกิจชุมชนที่พึงปรารถนา คือกิจกรรมเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ที่คนในชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ โดยการพัฒนาจากฐานของ “ศักยภาพของท้องถิ่น” หรือ “ทุนในชุมชน” ซึ่งร่วมถึงเงินทุน แรงงาน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ วัด ที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทาง   ชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ฯลฯ          เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ซึ่งจะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ คำว่า เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพึ่งตนเอง มีนัยทางหลักการและแนวคิดเหมือนกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนได้ เศรษฐกิจชุมชนควรจะพัฒนาตามแนวทางดังนี้ 1. เน้นการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และยึดพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้การพัฒนาตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น           2. สร้างภาคีและเครือข่ายความร่วมมือ ในลักษณะ “พหุภาคี” เพื่อประสาน “พลังสร้างสรรค์” ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยมีองค์กรชุมชนเป็นแกนกลาง ส่วนภาคีอื่นๆ ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้น อำนวยความสะดวก ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนา           3. เริ่มการพัฒนาจากชุมชนท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ และให้องค์กรชุมชนเป็นจักรกลสำคัญในการดำเนินการพัฒนา เพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาจากความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง           4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวบ้านและการสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณะสุข การผลิต การตลาด การระดมทุน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ           5. ใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้างการเรียนรู้และสร้างอาชีพที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คนในชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านเพศ วัย การศึกษา ความถนัด ฐานะเศรษฐกิจ ฯลฯ           6. ยึดปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวพระราชดำรัส “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” ตามขั้นตอนของ “ทฤษฎีใหม่”แต่โครงการสร้างโอกาสเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจชุมชน ตามยุทธศาสตร์ประเทศที่รัฐบาลเสนอออกมาแก้ปัญหานั้น ยังไม่ตรงกับปรัชญาเศรษฐกิจชุมชน