เห็นภัยเศรษฐกิจโลกใกล้เข้ามาแล้ว อดคิดถึงปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่ได้ ตัวเลขประชากรยากจนตามสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศไทยนั้นลดลงทุกปี แต่นั่นเป็นเรื่องของตัวเลขเท่านั้น ความทุกข์ยากลำบากของคนชั้นล่างนั้น ลดน้อยลงจริงหรือไม่ ? ช่องความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตระหว่างคนจนกับคนมีนั้น ขยายตัวขึ้นหรือหดตัวลง ? “ความยากจนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะมีอยู่ทั่วไปในโลก ทางที่จะแก้ปัญหาความยากจนนั้น มิได้อยู่ที่การปิดบังความจน แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเกี่ยวกับความยากจน สนใจและศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของความจนในทุกแง่ทุกมุม ไม่ว่ารายละเอียดนั้น ๆ จะเป็นทางกายหรือทางใจ เมื่อมีความรู้จริงจังเกี่ยวกับความจนแล้ว จึงจะคิดแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความจนนั้นได้ ฉะนั้นคนที่ไม่อยากฟังเรื่องความจนก็ดี คนที่ลืมความจนเสียก็ดี หรือคนที่ไม่ยอมพูดเรื่องความจนก็ดี จึงเป็นคนที่ไม่อยู่ในฐานะจะแก้ไขปัญหาความจนได้เลย และคนที่ไม่อยู่ในฐานะเช่นนั้นก็ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปกครองแผ่นดิน เพราะความจนและการแก้ไขความจนเป็นปัญหา และภาระที่สำคัญที่สุดของผู้ปกครองแผ่นดิน การพุดถึงความจน ตลอดจนการเปรียบเทียบคนจนกับคนมีนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดการแตกแยกฆ่าฟันกันเสมอไป ความกลัวของคนมั่งมีบางคนที่มีต่อคนจนนั้น เป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นอยู่เองว่า คนมั่งมีเช่นนั้นเป็นโจรปล้นทรัพย์ เพราะทรัพย์ที่บุคคลทำมาหากินได้โดยสุจริตด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้น ย่อมมิใช่วัตถุที่จะก่อให้เกิดความละอายหรือความกลัวเกรงอย่างไร แต่โจรที่ได้ทรัพย์ผู้อื่นมาโดยมิชอบนั้น ย่อมต้องละอายและเกรงกลัวผู้เป็นเจ้าของทรัพย์อยู่เสมอ ฉะนั้นคนจนกับคนมั่งมีผู้สุจริตจึงไม่เป็นอันตรายต่อกันเลย.... การที่จะช่วยคนจนให้ได้ผลจริงจังคือช่วยด้วยการร่วมทุกข์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนจน มิใช่ช่วยเพื่อหาความนิยมทางการเมือง มิใช่ช่วยเพื่อหาความสุขใส่ตัวด้วยการจัดงานรื่นเริง เต้นรำ หรืออื่น ๆ แล้วขายตั๋วบำรุงการกุศล เพราะในงานเช่นนี้รายจ่ายส่วนใหญ่ต้องใช้ไปในการตกแต่งสถานที่และการละเล่น ตลอดจนสุราอาหาร เพื่อบำเรอความสุขของคนมั่งมีเป็นส่วนมาก จะถึงคนจนเป็นส่วนน้อย (คึกฤทธิ์ ปราโมช) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอความเห็นไว้ว่า การช่วยคนจนต้องช่วยด้วยการร่วมทุกข์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนจน ผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองในอดีต ไม่ว่าจะมาจากหนทางใด ได้คิดร่วมทุกข์กับคนจนหรือไม่ ? หรือคิดช่วยเหลือกันแบบ “ทำการกุศล” เท่านั้น เมื่อมิได้คิดแบบ “ร่วมทุกข์” กันจริง ๆ แล้ว มาตรการแก้ปัญหาก็มักจะไม่ตรงประเด็น แก้ปัญหาไม่สำเร็จ การ “ร่วมทุกข์” นี่ มิได้เรียกร้องว่าชนชั้นปกครองต้องยากจนซอมซ่อ แต่หมายถึงว่าจะต้องรับรู้ เข้าใจ ต้นเหตุแห่งทุกข์ความยากจน ซาบซึ้งกับต้นเหตุก่อน มีความต้องการช่วยคนจนอย่างเป้นพวกเดียวกัน จึงจะคิดหาวิธีแก้ไขได้ถูกทาง