คอลัมน์ ทางเสือผ่าน สมบัติ ภู่กาญจน์ ขณะที่ยังมีชีวิต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะสอนผมอยู่บ่อยครั้งในวงสนทนาว่า “แม้แต่พระภิกษุ ก็ยังต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์จากฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รู้จักศาสนาพุทธและศรัทธาในพระพุทธศาสนาด้วยความจริงใจ” “เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียว ที่สอนให้คน-คิดก่อนเชื่อ-ในสิ่งต่างๆ” ต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายประกอบความคิดเห็นจากอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ผมยังจำได้ไม่เคยลืมว่า “ แม้แต่ คำสอนของท่านเอง ท่านยังบอกให้คนฟังแล้วคิด โดยใช้เหตุใช้ผล ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ด้วย หรือว่าจะเชื่อหรือไม่ควรเชื่อดี?.......น่าอัศจรรย์ที่ว่า ความคิดเช่นนี้ถูกสอนไว้ตั้งแต่เมื่อก่อนสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว.....แต่ทุกวันนี้มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่ส่วนใหญ่ก็ยังมี ‘อวิชชา’ คือ ‘ความไม่รู้ หรือความรู้ที่ไม่แท้จริง’ห่อหุ้มอยู่มากกว่าความรู้ มนุษย์จึงมักจะเชื่อมากกว่าคิด เพราะการเชื่อนั้นง่ายกว่าการคิด เมื่อเชื่อในสิ่งที่ไม่แท้จริงหรือไม่ใช่ความรู้จริง ‘ทุกข์ คือปัญหาทั้งปวง’ก็เลยเกิด........นี่คือภาวะธรรมชาติตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่ยาวนานมานับหมื่นปี ส่วนศาสนานั้นเพิ่งจะเกิดมาไม่เกินสามสี่พันปีนี้เอง เพราะฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเพื่อปรับวิธีคิดให้เห็นพ้องต้องกันในสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง และสร้างสิ่งดีให้แก่ชีวิตได้ตรงตามที่ศาสนาประสงค์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้พระภิกษุก็ยังต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์อยู่ จากคนทุกหมู่เหล่า และเป็นสิ่งที่ฆราวาสพึงกระทำด้วย ถ้าเราจะรู้จักและหวังดีต่อพระพุทธศาสนาด้วยความจริงใจ” ผมฟัง-คิด-และเชื่อ ในคำสอนของอาจารย์คึกฤทธิ์มาตั้งแต่แรกเริ่ม และสนับสนุนความคิดนี้มาจนกระทั่งผู้สอนตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว ทุกวันนี้ ผมก็ยังเชื่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุ ในพฤติกรรมบางอย่างของพระภิกษุบางรูป ในบางครั้งบางโอกาส ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคปลายพุทธทศวรรษที่ 2550 ที่ภาวะอนิจจัง คือการเปลี่ยนแปลงของโลกก็กำลังมากขึ้นและเร็วขึ้น และความทุกข์คือปัญหาสารพัดก็กำลังถาโถมเข้าใส่มนุษย์มากขึ้น อยู่ทุกวัน ๆ ผมค่อนข้างเชื่อว่า เพราะความขาดการคิดพิจารณาก่อนเชื่อ จึงทำให้ ‘ปัญญา’ของมนุษย์ทุกวันนี้ลดน้อยถอยลงไป และความเชื่อง่ายโดยปราศจากการคิดไตร่ตรอง(ให้ดีๆ)ก่อนเชื่อ ก็ก่อให้เกิดอาการ ‘ขาดสติ’ เพราะความเชื่อง่ายเช่นนี้ เป็นมูลเหตุที่จะทำให้ ‘อารมณ์’เกิดขึ้นได้ง่ายทุกเมื่อ ยามใดที่เชื้อเพลิงแห่งอคติสี่ คือความรัก โลภ โกรธ หลง อย่างใดอย่างหนึ่ง จะถูกก่ออย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ให้เกิดขึ้นมา ใครควรจะเป็นผู้ ‘ให้สติ-และสร้างปัญญา’เหล่านี้ให้เกิดขึ้นมากๆแก่มวลมนุษย์? นี่คือคำถามที่ทำให้ผมคิดถึงพระภิกษุสงฆ์ และคิดถึงคำสอนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่เคยสอนผมว่า ในบางกาละและเทศะ ภิกษุเองก็ต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์จากฆราวาสด้วยเช่นกัน เพราะคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ จึงทำให้ผมคิดถึงข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์คึกฤทธิ์ ข้อเขียนนี้มีขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2515 ยุคที่สังคมไทยยังมีทั้งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มีทั้งพระภิกษุที่ควรค่าแก่การเคารพนับถือหลายรูป, มีทั้งคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์พระเป็นประจำอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ขณะนั้น ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วและเริ่มเข้าทำงานที่สยามรัฐรายวันได้สามปี ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2515 อาจารย์คึกฤทธิ์ ได้เขียนคอลัมน์ประจำของท่านไว้ ด้วยเนื้อความดังต่อไปนี้ ******** ******** ผมได้ไปอ่านพระธรรมเทศนาเก่าๆของท่านเจ้าคุณพระปัญญานันทมุนี ซึ่งท่านได้แสดงไว้ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ พบข้อความตอนหนึ่งซึ่งขอคัดมาลงไว้ที่นี้ “ เมื่อวานซืนนี้มีครูคนหนึ่ง เป็นครูสตรีสอนในโรงเรียนรัฐบาล ก็เป็นครูที่มีความรู้อยู่พอสมควร มาหาพระที่วัดองค์หนึ่ง แล้วก็เอาหนังสือของสำนัก......(ผมนายสมบัติ ขออนุญาตตัดชื่อครับ) ...มาถวายด้วย แล้วขอร้องพระรูปนั้นว่าให้ท่านช่วยบอกป่าวให้ญาติโยมทั้งหลายได้รู้ได้เห็น แล้วให้ชักชวนกันไปที่สำนัก...........จะได้รู้จักศาสนามากขึ้น พระที่ได้รับหนังสือนั้นก็ไม่เกรงใจหรอก พูดคัดค้านออกไปทันทีว่า ครูนี่ถ้าจะหลงใหญ่เสียแล้ว สำนักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องทางพระพุทธศาสนา การทรงเจ้าเข้าผีไม่ใช่เรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ถูกตรงตามหลักพระพุทธศาสนา แกกลับหาว่าพระนี่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องไม่เคยไปเห็นแล้วก็พูดคัดค้านไปอย่างนั้นเอง พระก็เลยไม่พูดต่อไป เพราะเห็นว่าครูคนนั้นแกตกลงไปในร่องลึกเหลือเกินแล้ว จะดึงขึ้นมันก็ไม่ไหว ก็เลยปล่อยให้กระแสแห่งความเห็นผิดนั้น พัดพาต่อไป สุดแล้วแต่จะไปชนแก่งหินโสโครกที่ไหนตามเรื่องของแกเถอะ เลยไม่คุยกันในเรื่องนั้นต่อไป ไปชวนคุยกันในเรื่องอื่น อันนี้เป็นตัวอย่างนำมากล่าวเพื่อให้เห็นว่า คนเราแม้ว่าจะมีการศึกษาซึ่งเรียกว่าเป็นปัญญาชน แต่ก็ยังหลงใหลเข้าใจผิดอยู่ในเรื่องคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ไปเชื่อในสิ่งที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาอยู่มีจำนวนมิใช่น้อย แล้วไม่ใช่เชื่อเพียงคนเดียว ยังไปชวนใครๆให้มาหลงเชื่อต่อไปด้วย ให้ไปฟังเทศน์ แต่ไม่ชวนให้ไปฟังพระเทศน์” “ทีนี้ ผีที่เทศน์นั้น บางทีก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เทศน์เลอะเทอะไปตามอำนาจของคนทรงเจ้าเข้าผี แต่คนเหล่านั้นก็อุตส่าห์ไปนั่งประนมมือฟังกันด้วยความตั้งอกตั้งใจ หารู้ไม่ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสารมิใช่น้อย ถ้าเรามีโอกาสที่จะพูดจาแนะนำชักจูงคนเหล่านั้นให้ได้เกิดความเข้าใจถูกความเห็นถูก เราก็ควรจะกระทำ แล้วญาติโยมก็ควรจะมีหลักไว้ในใจว่า ในชาติหนึ่งที่เราเกิดมาเป็นผู้เป็นคนนี้ ถ้าเราได้กระทำให้คนที่มีความเห็นผิดให้กลายเป็นคนที่มีความเห็นถูกขึ้นสักคนหนึ่ง หรือทำคนที่เดินทางผิดให้ได้เดินในทางที่ถูกที่ชอบที่ตรงกับคำสอนในทางพระพุทธศาสนาขึ้นสักคนหนึ่ง ก็จะนับว่าชีวิตนั้นใช้ได้ ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นผู้คนกับเขา” คำปรารภของท่านเจ้าคุณในพระธรรมเทศนานี้ เหมือนกับว่าทิ่มแทงเข้าไปในหัวใจผม เพราะผมก็นึกอย่างเดียวกับที่ท่านได้ปรารภตลอดมา และเมื่อได้เห็นคนที่ร่วมศาสนาเดียวกัน กลับไปหลงงมงายในการทรงเจ้าเข้าผี แม้แต่ผู้มีการศึกษาสูงมีปัญญาสูง ผมก็ยิ่งเกิดความสลดใจ และรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก เหมือนกับว่าได้เห็นคนรักกันชอบกัน กำลังจมน้ำตายอยู่ต่อหน้า โดยที่ผมไม่มีทางจะช่วยเหลือเขาอย่างไรได้ จริงอย่างที่ท่านเจ้าคุณท่านได้กล่าวไว้ทุกประการ ว่า คนทุกวันนี้เขาเชื่อผียิ่งกว่าเชื่อพระ เมื่อเชื่อผียิ่งกว่าเชื่อพระ คนก็พากันนับถือผียิ่งกว่านับถือพระ ท่านผู้ใดที่ยังมั่นคงในพระพุทธศาสนา ก็ควรจะตั้งปัญหาถามตัวเองกันสักครั้งว่า เพราะเหตุใด คนทุกวันนี้จึงเชื่อผีและนับถือผีมากกว่าเชื่อพระและนับถือพระ? เพราะเหตุใด คนจึงไปหาผีและกราบไหว้ผี มากกว่าที่จะไปหาพระและกราบไหว้พระ?...................... ข้อเขียนนี้ยังไม่จบครับ การวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจนี้ยังมีต่อ โปรดสังเกตว่าทั้งพระและทั้งฆราวาสในอดีตนั้น ท่านไม่เคยอยู่นิ่ง ในการที่จะปล่อยให้ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องตรงตามพุทธศาสนานั้นลอยนวลและเติบโตขึ้นทั่วแผ่นดินเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่เรายังไม่ทำ/หรือทำอะไรกันไม่ได้ แต่เราก็น่าจะยังฟังกันได้ใช่ไหมครับ? เพราะฉะนั้น ถ้าความสนใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดยังมีอยู่ ก็กรุณาติดตามอ่านต่อกันในตอนหน้าครับ