แสงไทย เค้าภูไทย เศรษฐกิจไทยเข้าสู่โซนวิกฤติแล้วหรือ ? เป็นหัวข้อโต้ตอบกันในโซเชียลมีเดีย หลังจากตัวเลขชี้วัดสำคัญหลายตัวแสดงออกมาในช่วงกลางปีและอารมณ์เศรษฐกิจครึ่งหลังของปี ที่นอกจากจะไม่ดีไปกว่า 2 ไตรมาสแรกแล้ว แนวโน้มยังจะแย่ถึงระดับเข้าสู่ Red Zone โดยเฉพาะหนี้เน่า NPL ที่งอกงามและซุุกซ่อนแอบแฝง ตัวเลขที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในห้วง “ขาลง” ที่ลาดชันกว่า 22 ปีที่ผ่านมาก็คือ ดัชนีอัตราเติบโตครึ่งปีแรกของ GDP อยู่ที่ 2.8% ตกลงมาจาก 3.7%ของช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว จีดีพีของไทยนั้น พึ่งพาการส่งออกถึง 70% การท่องเที่ยว 20% และอื่น ๆ อีก 10% ภาคการส่งออก (export sector) ติดลบ 2 ไตรมาสซ้อน ไตรมาสที่ 3 ที่กำลังมาถึงครึ่งทางและไตรมาสที่ 4 สิ้นปี ยังไม่มีข่าวดี ภาคบริการและท่องเที่ยว ( service sector) 4.1% ลดลงจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 4.4% ภาคการใช้จ่ายในประเทศ (domestic expenditure) ภาคเอกชน โต 4.6% ภาครัฐ 3.3%ทั้งๆที่ขยายงบประมาณรัฐเป็น 3.3 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.4% เป้าหมายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในรูปงบประมาณขาดดุลคืออัตราเติบโตของ GDP 4.4% แต่คาดการณ์ว่าจะ GDP ปีนี้จะโตต่ำเป้าคือได้แค่ 3.3-3.8% เท่านั้น ที่ไปโตคือโตหนี้รัฐและหนี้ราษฎร์ โดยหนี้รัฐเกิดจากงบประมาณขาดดุล ส่วนหนี้ครัวเรือนเกิดจากการทำมาหาไม่พอกิน อัตราว่างงาน ผลผลิตเกษตรราคาตกต่ำ ค้าขายไม่ดี คนไทยกินใช้น้อยลง ฯลฯ โยงกันไปทั้งระบบ แม้การจ้างงานจะทรงตัว 0.9% เหตุเข้าฤดูเพาะปลูก การจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ดีมากเหตุราคาพืชผลตกต่ำ พืชผลหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ราคาตกต่ำอย่างที่ไม่ปรากฏมาก่อน เนื่องจากตลาดซบเซาทั้งภายในประเทศ ทั้งส่งออก รัฐแก้ด้วยการแจกเงินเกษตรกร ขณะที่ผู้ประสบภัยแล้งก็แจกเงินและยืดหรือผ่อนปรนระยะเวลาใช้หนี้ ธกส. เหล่านี้คือเหตุผลว่า ทำไมหนี้ครัวเรือนไทยจึงงอกไม่หยุด วันนี้ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่ม 6.0%ไต่ระดับใกล้ วิกฤติ คือ 80% ติดอันดับโลกต้นๆและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย หนี้อีกตัวที่ติดอันดับโลกก็คือ NPL สิ้นกลางปี( 31 มิ.ย.)อยู่ที่ 3.11%(ที่มา:สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยแห่งประเทศไทย) ทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี NPL สูงที่สุดในโลก ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติแล้ว โดยเกณฑ์ที่ถือว่าเข้าสู่ภาวะวิกฤติคือ 0.4-0.5% ตัวเพิ่ม GDP อีกตัวคือการบริโภคในประเทศ อุตสาหกรรมบริการ (service sector) ที่การท่องเที่ยวที่เคยเป็นพระเอกมาหลายปี ตอนนี้ซบเซา จึงงัดมุขเดิมมากระตุ้นด้วยการแจกเงินคนไทยเที่ยวหัวละ 1,500 บาท ภาคการส่งออก ติดลบ มา 2 ไตรมาส คือไตรมาสแรก -1.6% ไตรรมาสที่ 2 -2.15%รวมครึ่งปีแรก ส่ง ออก -2.9% หอการค้าไทยประเมินว่า ทั้งปีจะติดลบ -0.64% ติดลบมากสุดในรอบ 4 ปี ทั้งด้วยสาเหตุตลาดโลกชะลอตัว สงครามการค้า ค่าบาทแข็ง ตัวเลขด้านส่งออกของไทยนั้น คิดลบเป็นสถิติทั้งนั้น เช่นต่ำสุดในรอบ 22 เดือนบ้าง ในรอบ 34 เดือนบ้าง ในรอบ 4 ปีบ้าง ฯลฯ ทั้งๆที่ตอนนี้ Trade War ระหว่างสหรัฐกับจีน ก่อให้เกิดช่องว่าง สินค้าไทยเข้าไปแทรกช่องโหว่นั้นได้เป็นอย่างดี อย่างช่วงนี้ ส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ส่งไปจีนเพิ่มขึ้น10% ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่สินค้าไทยเข้าไปทดแทนที่สินค้านำเข้าจากจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 25% จาก 10% ส่วนสินค้าที่ส่งไปจีนก็จะแทนที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐเป็นการตอบโต้ พ่อค้าส่งออกเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยหาตลาดใหม่และฉวยโอกาสแทรกเข้าตลาดจีนแทนที่สินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นรวมถึงมาตรการเสริมอื่นๆเหมือน อย่างของเมียนมาร์ทำ เช่นตอนนี้ใช้ข้าวแลกอาวุธและสินค้าทุนกับจีนเป็นต้น แต่ไทยคงไม่กล้าทำ เพราะกองทัพไทยเตรียมจะซื้อเรือดำน้ำใหม่อีกลำ ด้วยเงินสด(ตามเงื่อนไขซื้อขาย) ถ้าเอาข้าวไปแลกอาวุธจีนเหมือนเมียนมาร์ เวลาจะจ่ายเงินทอนมันยุ่งยาก เกรงว่า กว่าจะได้เงินทอน รัฐบาลสีเขียวก็อาจจะหมดอำนาจเสียก่อน ตัวเลขชี้วัดภาวะเศรษฐกิจเหล่านี้ กอร์ปกับบทวิจารณ์ของนายสมหมาย ภาษี อดีตรมว.คลังร่วมรัฐบาลในยุค คสช.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ห้วงวิกฤติแล้ว ภาวะตกต่ำที่สุดนับแต่วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 ทำให้ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุสาพิทักษ์ ร้อนใจจนถึงกับต้องออกมาชี้แจงตอบโต้ทันควัน ขณะเดียวกันก็เร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ล้วนแต่หนีไม่พ้นนโยบายประชานิยมในครอบ “ประชารัฐ” มุขเดิมๆ