ณรงค์ ใจหาญ ในการกระทำความผิดอาญานั้น หลักการสำคัญคือ ผู้กระทำความผิดต้องมีการกระทำตามที่กฎหมายกำหนดและมีเจตนากระทำความผิด ยกเว้นในบางกรณีที่กฎหมายต้องการให้ผู้กระทำต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น จึงกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับการกระทำที่กระทำโดยประมาทไว้ เช่นกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส กระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยประมาท กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เป็นต้น หลักการที่ต้องมีการกระทำที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด และต้องมีเจตนากระทำความผิดนั้น เมื่อมาปรับใช้กับนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด กระทรวง กรม เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การพิจารณาการกระทำของนิติบุคคลว่ากระทำการอันฝ่าฝืนกฎหมายอาญาหรือไม่ ในทางคดีพิจารณาจากการกระทำของกรรมการผู้เป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้น ว่าได้มีการกระทำอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเช่น บริษัทจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าขาย เมื่อได้กระทำการเกี่ยวกับกิจการค้าขายแล้วแต่มีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการกระทำของนิติบุคคล และการแสดงเจตนาการฝ่าฝืนกฎหมายของผู้แทนนิติบุคคลก็ถือเป็นการที่นิติบุคคลมีเจตนากระทำความผิดด้วย นิติบุคคลจึงรับผิดทางอาญา และต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ปัญหาว่า เมื่อผู้แทนของนิติบุคคลได้กระทำการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลแล้ว ผู้แทนนิติบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำความผิดของนิติบุคคลหรือไม่ หลักทั่วไปแล้ว หากผู้แทนนิติบุคคลจะต้องรับผิดในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิด ต้องมีหลักฐานว่า ผู้แทนนิติบุคคลมีส่วนในการกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ได้กระทำการในหน้าที่ของตนอันมีผลต่อการก่อให้เกิดความผิดนั้น โดยมีเจตนา ทั้งนี้เพราะการที่จะลงโทษบุคคลใด ผู้นั้นต้องมีส่วนในการกระทำความผิดนั้น การดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และผู้แทนนิติบุคคลจึงเป็นการดำเนินคดีที่แยกบุคคลที่จะรับผิด และพนักงานสอบสวนก็จะแจ้งขอหาแยกเป็นรายคนไปตามพฤติการณ์ที่ผู้นั้นกระทำความผิด อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา มีกฎหมายอยู่หลายฉบับได้กำหนดความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลให้รับผิดทางอาญา ร่วมกับนิติบุคคลโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ เมื่อนิติบุคคลกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับดังกล่าวให้ผู้จัดการ กรรมการ ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล รับผิดร่วมกับนิติบุคคล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำนั้น ซึ่งบทบัญญัติเช่นนี้ปรากฏในพระราชบัญญัติถึง 76 ฉบับ ซึ่งในประเด็นนี้ เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2555 ว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาให้กับจำเลย จึงขัดต่อหลักข้อสันนิษฐานในกฎหมายว่า ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด จึงทำให้การดำเนินคดีต่อผู้แทนนิติบุคคลเมื่อนิติบุคคลกระทำความผิด พนักงานสอบสวนจะอาศัยบทบัญญัติที่ให้ต้องรับผิดร่วมโดยทันทีนั้นไม่ได้ ต้องสืบสวนหาหลักฐานจนกว่าจะได้ความว่า ผู้แทนนิติบุคคลนั้นมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยจึงจะแจ้งข้อหาได้ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้ผู้บริหารนิติบุคคลรับผิดร่วมกับนิติบุคคล หากไม่ต้องรับผิดต้องพิสูจน์ว่าตนไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยเพราะถือว่าเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงได้ตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องนี้ในกฎหมายทั้งหมด 76 ฉบับ โดยมีข้อความในทำนองเดียวกันในเรื่องความรับผิดของผู้บริหารนิติบุคคล กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 134 ร.จ. ตอนที่ 18 ก ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 มีผลบังคับในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 โดยบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ จะมีข้อความที่เหมือนกับในหลักการนี้ “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือกระทำการของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในความผิดนั้นๆ ด้วย” หลักการที่แก้ไขใหม่นี้ เป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักการในกฎหมายอาญาที่กำหนดไว้ว่าหากจะกำหนดให้ผู้ใดต้องรับผิดทางอาญา ต้องมีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายในความผิดแต่ละฐานนั้น และต้องมีเจตนากระทำความผิดด้วย การที่จะกำหนดให้กรรมการ หรือวิศวกร หรือสถาปนิก หรือเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้น จะต้องได้ความว่าผู้นั้นมีส่วนก่อ หรือร่วม หรือสนับสนุน จะกำหนดให้รับผิดร่วมโดยทันทีไม่ได้ เพราะจะทำให้กฎหมายกำหนดความรับผิดให้โดยไม่พิจารณาว่าเขามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้นอย่างไร บทบัญญัติที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ กำหนดให้โจทก์ผู้ฟ้องคดี และศาลจะต้องพิจารณาถึงพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในนิติบุคคลนั้นมีหน้าที่อย่างไร ที่เกี่ยวข้องกับการที่นิติบุคคลกระทำความผิด และบุคคลเหล่านั้นจะต้องมีหน้าที่สั่งการ หรือกระทำการ หรือต้องละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอย่างไร จึงเป็นเหตุให้เกิดความผิดที่กระทำโดยนิติบุคคล นอกจากการกระทำแล้ว ผู้แทนนิติบุคคลนี้จะต้องมีเจตนาสั่งการ กระทำการหรือละเว้นกระทำการด้วย จึงจะต้องรับผิด ดังนั้น ในปัจจุบัน การดำเนินคดีเพื่อจะเอาผิดกับนิติบุคคล ต้องพิจารณาถึงการกระทำของผู้แทนนิติบุคคลว่าได้กระทำการตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอาญาฐานใด ส่วนตัวผู้แทนนิติบุคคล หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลในกิจการที่เป็นความผิดนั้น จะรับผิดร่วมกับนิติบุคคล พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล จะต้องพิจารณาแล้วได้ความว่า กรรมการ ไม่ว่าจะในระดับใด หรือผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ากระทำผิดต่อหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำตามหน้าที่ แต่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือไม่กระทำการตามหน้าที่แต่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือละเว้นไม่สั่งการอันเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้น กระทำการอันเป็นความผิด ซึ่งหลักการนี้ จึงเป็นหลักที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่อาจแจ้งข้อหาแก่ผู้แทนนิติบุคคลได้ทันที แต่ต้องหาพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการผิดหน้าที่ที่จะต้องกระทำของผู้แทนนิติบุคคลนั้นก่อน การแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับเปลี่ยนบทบัญญัติที่กำหนดความรับผิดของผู้แทนนิติบุคคลในกรณีที่ต้องรับผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้น ถือเป็นการย้ำหลักการสำคัญในกฎหมายอาญาว่าผู้ที่จะต้องรับผิดทางอาญาต้องมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และจะไม่ต้องรับผิดหากไม่มีหลักฐานที่รัฐหามาเพื่อพิสูจน์ว่าผู้บริหารนิติบุคคลกระทำผิด อันเป็นข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่า บุคคลผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การพิสูจน์ความผิดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ไม่ใช่ผลักให้จำเลยสืบแก้ตัวให้พ้นผิด