พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าซึ่ง พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2532 ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนและสภาพแวดล้อม มีเนื้อความบางตอนดังนี้ "เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เราจะต้องใช้อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างมีผู้เสนอให้ไปซื้อถ่านหินน้ำออสเตรเลีย มาสร้างโรงไฟฟ้าใช้ไอน้ำ คือใช้ถ่านหินมาเผาเพื่อที่จะทำความร้อนและขับเทอร์ไบน์ให้เป็นไฟฟ้า คำนวณดูที่เราจะต้องซื้อถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียมา ก็เสียเงินทองเท่าไหร่ มาเผาแล้วจะออกมาเป็นคาร์บอนเวลามาเผาสำหรับหมุนกังหันจะต้องเกิดคาร์บอนขึ้นไปเท่าไหร่เปรียบเทียบกับที่จะเสียพลังการกำจัดคาร์บอนจากต้นไม้สัก 3-4 ต้น นั้นน่ะมันคุ้มหรือเปล่า ถ้าทำไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่ไม่ต้องตัดตนไม้เพียงแต่ตัดต้นหญ้าก็คงไม่เสียหาย พูดอย่างนี้ก็อาจฉงนว่าจะทำที่ไหน ไปคิดเอาเอง ว่าที่ไหนทำได้ มันมีที่ที่จะทำได้ รวมทั้งน้ำที่จะกักเอาไว้ปล่อยออกมาทำไฟฟ้าและปล่อยออกมาทำการเพาะปลูกในที่ที่อย่างน้อย 200,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันนี้รกร้าง ว่างเปล่า เพราะว่าไม่มีน้ำ เมื่อรกร้างว่างเปล่าอย่างนั้น ก็ทำให้เสียเศรษฐกิจไปแยะ จะต้องสงเคราะห์ชาวนา ชาวสวนที่เป็นเจ้าของที่เหล่านั้น ลงท้ายพวกนั้นก็จะต้องขายที่กลายเป็นทำให้ราคาของที่ดินแพงขึ้น ก็เป็นปัญหาอีกต่อไป แล้วผู้ซื้อที่ดินนั้นก็จะอยากไปประกอบอุตสาหกรรมที่นั่น เมื่อมีอุตสาหกรรมที่นั่นก็จะต้องมีน้ำ ก็จะต้องขุดน้ำบาดาล หรือต้องทำโครงการนำน้ำมา เสียเงินเป็นหลายร้อยล้าน เป็นหมื่นเป็นแสนล้านฉะนั้นถ้าหากว่าที่ ดินเหล่านั้น จะมาใช้สำหรับการเกษตรได้โดยเหมือนว่าได้เปล่า รู้สึกว่าควรจะทำ แต่ถ้าไปทำ ก็จะมีผู้ที่คัดค้านว่าในการทำต้องไปตัดต้นไม้ ในข้อนี้ถ้าพิจารณาแล้ว ที่เขาคัดค้านไม่ให้ตัดต้น ไม้เพราะเหตุใด เขาก็ต้องคิดดูเหมือนกันว่าเราต้องการไฟฟ้า แล้ว เราเผา ถ่านหิน ก็จะเสียหายไปเท่าใด เปรียบเทียบกับการตัดต้น ไม้ไม่กี่ต้น พูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็งง วันนี้มีแต่งง เพราะวันนี้ไปถึงสิ่งแวดล้อมขั้นโลก แต่ก่อนนี้เคยพูดถึงสิ่งแวดล้อมขั้นประเทศเดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลกเพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมาจะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทย ถ้ามีความดีแล้วต้องรักษาความดี ที่ไหนที่ไม่มีความดีก็จะต้องสร้างความดี ที่ไหนที่มีความเลวก็จะต้องระงับความเลวที่ไหนที่มีความดีแล้ว ก็ต้องรักษาความดี อันนี้เป็นหลัก แต่ว่าถ้าเรามีความดีอยู่แล้ว แล้วก็ทำลายความดีนั้น มันเป็นสิ่งที่น่าเสียดายไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่เลว - มันก็เลวอยู่ในตัว - แต่น่าเสียดาย ถ้าเรามีของดีแล้ว เราต้องรักษา และส่งเสริม ความดีในของดีนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป" (อ่านพระราชดำรัสฉบับเต็มได้ที่ http://www1a.biotec.or.th/./ind./2009-06-23-04-00-07/60-king)