กรมชลประทาน เสนอจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐปลูกทุเรียนล้วนๆ 1,000 ไร่ ในจ.ระยอง เชื่อได้ผลดีสองเด้ง ลดต้นทุนค่าสูบน้ำลงสระส่วนตัว และผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจากความมั่นคงของน้ำ นายจำนงค์ ธรรมสอน ผู้อำนวยการโครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 9 สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้ โครงการปฏิบัติการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมที่ 9 ในพื้นที่ จ.ระยอง ได้เตรียมการส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐจำนวน 2 แปลงด้วยกัน พื้นที่รวมเบื้องต้นประมาณ 1,000 ไร่ โดยเน้นสวนทุเรียน แปลงแรก เป็นพื้นที่ ต.พลงตาเอี่ยม อ.วังจันทร์ กว่า 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการจัดทำระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม แต่เตรียมการสำรวจและวางแนวท่อเพื่อจัดระบบน้ำในปี 2561 แปลงที่สอง เป็นพื้นที่ ต.วังหว้า อ.แกลง จำนวน 2 แปลง โดยแปลงแรก 2,000 ไร่ จัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเรียบร้อยแล้ว เป็นสวนทุเรียน 400 กว่าไร่ ที่เหลือเป็นยางพาราและไม้ผลอื่น อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง เป็นต้น อีกแปลงจำนวน 3,000 ไร่ กำลังก่อสร้างระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม“เราเสนอพื้นที่ดังกล่าวให้ส่งเสริมเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐไปให้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (ซิงเกิ้ล คอมมานด์ หรือ SC) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่สำหรับตัวเกษตรกรเขาสนใจมาก ปกติประชุมครั้งหนึ่งเข้าร่วม 50-60 คน พอรู้ว่าจะเสนอเป็นเกษตรแปลงใหญ่มากันใหญ่คราวละ 150-160 คน” พื้นที่เกษตรดังกล่าวอยู่ทางฝั่งขวาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อาศัยน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ความจุ 248 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณเพียงพอที่จะขยายพื้นที่ส่งน้ำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ นายจำนงกล่าวอีกว่า เมื่อปี 2559 นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่จัดระบบน้ำ ต.วังหว้า อ.แกลง และเห็นว่าสามารถตอบโจทย์การส่งน้ำให้พืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียนได้เป็นอย่างดี จึงสนับสนุนให้ขยายผลประสาน SC เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ “โดยปกติโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์จะจ่ายน้ำลงสู่คลองธรรมชาติ แล้วให้เกษตรกรสูบจากคลองธรรมชาติไปใช้ได้เลยในกรณีที่อยู่ติดคลอง แต่ถ้าไม่ติดคลองก็ต้องสูบไปเก็บในสระตัวเอง แล้วค่อยสูบใช้งานอีกที พอจัดระบบส่งน้ำโดยระบบท่อให้ก็จ่ายลงสระส่วนตัวโดยตรงได้เลย ลดต้นทุนการผลิตแบบเห็นๆ ทันที อีกทั้งการได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยให้ผลผลิตทุเรียนดีขึ้นอีกด้วย” ส่วนการรับซื้อผลผลิตทุเรียน มีผู้รวบรวมผลผลิตทุเรียน (ล้ง) คนไทยเข้ามารับซื้ออยู่แล้ว และเป็นราคาตลาด เช่น เมื่อปี 2559 ราคารับซื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ณ สวน กิโลกรัมละ 90 บาท