ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] อ่างเก็บน้ำแม่ห้วยเอี้ยงเฉลิมพระเกียรติ (จบ) อ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงเฉลิมพระเกียรติที่รพช.ดำเนินการจัดสร้างสนองแนวพระราชดำริน้ำคือชีวิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล อยู่ในพื้นที่บ้านใหม่น้ำเย็น หมู่ 9 ตำบลดอยลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่วันนี้นำมาถ่ายทอดสู่กันเพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทุ่มเทพระองค์สร้างแหล่งน้ำบำบัดทุกข์ราษฎรอยู่ในการดูแลพัฒนาของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2542 “อ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงฯดังกล่าว ดำเนินการสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 สนองพระราชปณิธานที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้น้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ดังกล่าวโดยเฉพาะในหน้าแล้ง และเพื่อป้องกันบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในหน้าน้ำหลาก โดยการสร้างอ่างระบบน้ำล้นและท่อส่งน้ำ พร้อมการฟื้นฟูเช่นการขุดลอก กำจัดวัชพืช กระบวนการดังกล่าวมีศักยภาพในการชะลอน้ำหลากพร้อมกับการกักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตยกระดับเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่จนทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”เจ้าหน้าที่ทรัพยากรน้ำภาค1กล่าวสรุป อ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงเฉลิมพระเกียรติเป็นลักษณะเขื่อนดิน กักเก็บน้ำระบายโดยระบบสปิลเวย์และส่งผ่านท่อสู่พื้นที่ประชาชน ความจุระดับกักเก็บ 3,178,000 ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 5,000 ไร่ จำนวนครัวเรือนประมาณ 250 มีน้ำต้นทุนไหลผ่านมาจากภูเขาหลายทางเป็นลักษณะน้ำซับ มีน้ำซึมตลอดทั้งปีทำให้พื้นที่รอบๆอ่างเก็บน้ำมีความชุ่มชื้น เนื่องจากมีน้ำซับอยู่ใต้ดิน แต่นั่นหมายถึงว่าป่ายังคงได้รับการดูแลมิให้ถูกตัดทำลาย เมื่อป่าทำให้เกิดน้ำซับ น้ำซับก็ทำให้ป่าไม้เจริญงอกงาม เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ของสัตว์ป่าหลายชนิดเป็นวัฏจักร ในอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอันเป็นอาหารของประชาชนนอกเหนือไปจากการมีน้ำไว้ใช้สอยในทุกด้านราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอีก้อ อาชีพหลักคือการเกษตรเช่นทำนาทั้งในพื้นราบและเชิงเขา มีการปลูกข้าวโพดควบคู่กันไป “ก่อนที่ทางการมาทำอ่างน้ำเยอะจริงแต่ไหลไปหมด ตอนหน้าแล้งน้ำแทบไม่เหลือเลย ไม่สามารถปลูกพืชผักอะไรได้ ชาวบ้านจึงยากจนกัน เป็นหนี้เยอะ วันนี้มีอ่าง ส่วนใหญ่ลืมตาอ้าปากได้แล้ว ไม่ค่อยเป็นหนี้กันแล้ว แต่ต้องอยู่อย่างพอเพียงนะ รู้ว่าในหลวงทรงสอนให้อยู่แบบพอเพียงก็ทำตามพระองค์เพราะไม่อยากเป็นหนี้แล้ว เข็ดมาก ลำบากมาแล้วไม่อยากลำบากอีก” สายพิณ กุณณะ ชาวบ้านใกล้อ่างพูดให้ฟังโดยย้ำว่าเสียสละพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับโครงการสร้างอ่าง แต่ที่เหลืออยู่ก็พอทำประโยชน์ได้ แบบพออยู่พอกิน นางสายพิณบอกถึงวิถีชีวิตของคนที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำที่นอกเหนือจากเพื่อการเกษตรอุปโภคบริโภคแล้วก็คือการจับสัตว์น้ำ ชาวบ้านยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมมาแต่โบราณว่าวันพระงดทำบาป ฉะนั้นวันพระจึงไม่มีการจับปลากัน “เวลานี้ชาวบ้านลงมติกันว่าต้องมีคณะกรรมการผู้ใช้น้ำ จึงได้จัดตั้งขึ้นชาวบ้านเองได้ให้ความร่วมมือกันดีมากตลอดจนร่วมกันสร้างสำนึกในการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า แล้วช่วยกันถ่ายทอดสำนึกความรักความหวงแหนร่วมกันพิทักษ์รักษาทั้งป่าทั้งน้ำสู่เยาวชนไปพร้อมๆกัน”ผู้ใหญ่บ้านปงอ้อ อีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำกล่าวเสริม ผลพวงอันเกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของส่วนราชการที่ตั้งใจสนองแนวพระราชดำริจัดสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรถวายเป็นพระราชกุศลได้ปรับเปลี่ยนวิถีของชาวบ้านที่เคยอดอยากยากจน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นในเวลานี้ ถือว่าเป็นการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกร อ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงเฉลิมพระเกียรติบ้านใหม่น้ำเย็น วันนี้ คุณ ทวีศักดิ์ สุขธงไชยกูล อดีตผอ.กลุ่มงานประชาสัมพันธ์กรมทรัพยากรน้ำแจ้งว่าปัจจุบันสภาพ ยังคงสภาพเป็นเขื่อนดินสูง ๑๕ เมตร ยาว ๔๔๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖.๕๐ เมตร ที่มั่นคงแข็งแรง มีการก่อสร้างระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่ด้านล่างประมาณความยาวกว่า ๑๐ กม. เพื่อใช้ในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาที่เป็นอาชีพหลักของราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลาน้ำขาดแคลนจากภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง นายเสาร์ กูลณะประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้น้ำในปัจจุบันผ่านคุณทวีศักดิ์ว่าอ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงฯที่ รพช.ได้มาก่อสร้างไว้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๓ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๘ หมู่บ้าน ประมาณ ๓๐๐ ครัวเรือน ได้รับประโยชน์ในการทำเกษตร ทั้งการทำนา ทำสวน ปลูกพืชผัก และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ และเมื่อ ๒ ปีก่อนกรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๑ (ลำปาง) ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นฟูด้วยการขุดลอก เพราะใช้งานมานานกว่า ๑๕ ปี ทำให้เกิดความตื้นเขินจากการทับถมของดิน ทราย และต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ดีขึ้นเหมือนเดิม “ผมเองก็เป็นคนในพื้นที่ อยู่กับพื้นที่นี้มานาน ได้สละพื้นที่บางส่วนเพื่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ด้วย เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ราษฎรในพื้นที่ ก็ช่วยได้เยอะนะครับในเรื่องของน้ำที่จำเป็นต้องใช้ในการทำนา ทำสวน ปลูกพืชผัก กล้วย หรือพืชอีกหลายชนิดที่ราษฎรต้องการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการใช้สอย โดยมีระบบส่งน้ำเป็น ๒ สาย โดยจะมีจุดจ่ายน้ำเป็นระยะ ๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีการซ่อมแซมระบบกระจายน้ำบ้าง เพราะใช้งานมานาน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถช่วยสร้างประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ได้มากครับ แม้ว่า ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมา จะมีปริมาณน้ำที่น้อย เพราะฝนทิ้งช่วงนาน ทำให้เกิดปัญหาบ้าง แต่ปลายปีที่ผ่านมาก็มีน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำทำให้มีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วยในเรื่องการขาดแคลนน้ำในปีนี้ได้ไม่น้อยนะ กับอ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงตามแนวพระราชดำริแห่งนี้” นายเสาร์กล่าว อีกว่าบ้านใหม่น้ำเย็น ถือว่าโชคดีที่มีอ่างเก็บน้ำห้วยเอี้ยงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งกรมทรัพยากรน้ำมาดูแลต่อ แม้ช่วงรอยต่อปี2559กับ2560 ฝนก็หมดแล้ว แต่ยังพอมีน้ำพอสมคร คาดว่าราษฎรในพื้นที่จะไม่เดือดร้อนมาก และได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ตอนนี้ ทุกคนในหมู่บ้านทั้งที่บ้านนี้และบ้านใกล้เคียงก็มีความหวังเพราะมีน้ำนี่แหละที่จะช่วยสร้างชีวิตครอบครัวได้ เพราะว่า น้ำคือปัจจัยที่สำคัญมากในการทำเกษตรและต่อการดำรงชีวิต ของ พวกเรา