วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ " เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด“สหกรณ์” ในประเทศไทย และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์สู่สาธารณชนตามที่ได้มีการประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ การสหกรณ์ เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงริเริ่มนำวิธีการสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ทั้งปัญหาความยากจน ขาดแคลนแหล่งเงินทุน และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้า จึงได้จัดตั้งสหกรณ์จัดหาทุนขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 โดยมีพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นนายทะเบียนพระองค์แรก ขบวนการสหกรณ์ไทยจึงถือว่าพระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” ปัจจุบัน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้ความสำคัญกับขบวนการสหกรณ์ไทยเป็นอย่างมาก และต้องการนำสหกรณ์เป็นโซ่กลางในการสื่อสารความต้องการของประชาชนในพื้นที่มายังรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนประเทศด้วยกลไกประชารัฐ และต้องการให้ขบวนการสหกรณ์ส่งผ่านการสนับสนุนของภาครัฐสู่ประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนช่วยเหลือตนเองได้ โดยรัฐบาลจึงส่งเสริมการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างความเจริญมั่นคงของเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ ปี 2560 ถือเป็นการก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 การสหกรณ์ไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับ ดูแล และส่งเสริมขบวนการสหกรณ์ โดยมี ดร.วิณโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นแม่ทัพนำขบวน ประกาศจะเดินหน้าพัฒนาขบวนการสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิกกินดี อยู่ดี ชีวิตมีความสุข ดร.วิณโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดร.วิณโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การสหกรณ์ไทย ได้เดินทางมาสู่ปี ที่ 101 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้วางทิศทางในการพัฒนาสหกรณ์สู่ความเข้มแข็ง และยั่งยืน โดยเริ่มจากการสานต่อภารกิจงานใน 100 ปี ที่ผ่านมา คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ ภายใต้ “แผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ ปี 2559-2560” จะเร่งเดินหน้านำไปสู่ความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ อันดับสองการปฏิบัติหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คือ การพัฒนาส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งเชิงธุรกิจ การส่งเสริมยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน การส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็นกลไกหลักในการสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน เพราะสหกรณ์ เป็นสถาบันที่อยู่ในฐานรากของสังคม และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ถ้าสามารถส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกหลักในการเป็นที่พึ่งให้ประชาชน ซึ่งมีมากถึง 11 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์ และนำไปสู่ความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นศวรรษใหม่ คือ ปี 101 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และยกระดับสมาชิกสหกรณ์ มีความกินดีอยู่ดี มีความสุข โดยนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ส่งเสริมให้กลไกสหกรณ์เป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่ง ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดปรัชญาการทำงานในปี 2560 ว่า “Back to Members” ซึ่งปีที่ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง และจากนี้ไปจะต้องส่งต่อความเข้มแข็งของกลไกสหกรณ์ไปสู่สมาชิก ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีความเข้มแข็ง กินดีอยู่ดี ชีวิตมีความสุข นอกจากนี้ การพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะลงไปเป็นหน่วยในการขับเคลื่อนสนองตอบนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ นโยบายการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร โดยใช้เครื่องมือ Agri-Map การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร อีกทั้งส่งเสริมให้สหกรณ์ภาคการเกษตรเป็นกลไกลขับเคลื่อนธนาคารสินค้าเกษตร เช่น การใช้กลไกธนาคารสินค้าเกษตร สร้างยุ้งฉาง เป็นแก้มลิงในการชะลอการกระจายผลผลิตทางการเกษตร ไปตามกลไกตลาดที่มีคุณภาพ ไม่เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ส่งผลราคาสินค้าตกต่ำ โดยการใช้กลไกสหกรณ์ในการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์การเกษตรที่ผลิตสินค้าเกษตร กับสหกรณ์ผู้บริโภค ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์บริการ ผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ (Cooperative Distribution Center : CDC) ที่มีอยู่ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ อีกทั้ง ส่งเสริมสหกรณ์ขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตร ที่จะเป็นตลาดให้สมาชิกสหกรณ์นำสินค้าเกษตรมาขายให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ขณะที่ การสร้างความเข้มแข็งสหกรณ์นอกภาคการเกษตร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์ร้านค้า และสหกรณ์บริการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง สร้างกลไกในการกำกับดูแล การบริหารธุรกิจสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ การสร้างระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ เพื่อสามารถตรวจสอบการบริหารจัดการทางการเงินของสหกรณ์มีความถูกต้อง โปร่งใส โดยส่งเสริมสหกรณ์นะระบบเครติดบูโรมาใช้ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกว่า กลไกลสหกรณ์มีธรรมาภิบาล มีการบริหารงานที่มีมาตรฐาน พร้อมนำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการนำระบบเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบความเคลื่อนไหวของสหกรณ์ โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ปัจจุบัน ประชาชนบางรายยังมองสหกรณ์ในภาพลบว่า สหกรณ์โกงกิน ในประเด็นนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้วางแนวทางในการลบภาพลักษณ์ด้านลบ คือ การสร้างความตระหนักของสหกรณ์ให้เห็นความสำคัญของธรรมาภิบาล บริหารงานด้วยความซื่อสัตว์ โปร่งใส พร้อมนำแนวทางตามนโยบายรัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากสังคมยังไม่เห็นภาพสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็ง เพราะไม่มีใครเปิดภาพนี้ให้สังคมได้เห็น มองเห็นแต่ภาพลบของสหกรณ์มาตลอดเวลา แต่ความเป็นจริงมีสหกรณ์เพียงหลักหน่วย หลักสิบ ที่มีภาพการทุจริต เมื่อเทียบกับสหกรณ์ภาพบวก ที่มีถึงหลักพัน ซึ่งเพียงแต่ภาพลบคนจะจดจำง่าย มากกว่าภาพบวก ฉะนั้น จากนี้ไป กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเร่งนำสหกรณ์ภาพบวกสร้างการรับรู้ให้กับสังคมมากขึ้น ถ่ายทอดสิ่งดีๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ โดยมุ่งหวังที่จะนำสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ขับเคลื่อนกลไกทางสังคม เช่น การใช้กลไกสหกรณ์เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติราคาข้าวตกต่ำ ให้มีราคาสูงขึ้น การช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ ขบวนการสหกรณ์ได้เข้าไปช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องชาวใต้ มีความรู้สึกอบอุ่น แจกถุงยังชีพ เปิดครัวสหกรณ์แจกอาหาร และล่าสุด ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการซ่อมแซ่มเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อทำให้สังคมรับรู้ว่า สหกรณ์ เป็นกลไกที่ดี เพราะภาพลบที่เห็นเป็นเพียงคนไม่ดีบางคนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์ จนกลายเป็นภาพหลอกหลอนจนถึงทุกวันนี้ “อยากจะรณรงค์ เชิญชวนพี่น้องสมาชิก หันกลับมาดูสหกรณ์ตัวเอง เพราะสหกรณ์จะอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง สมาชิกต้องมีส่วนร่วม มีการรับรู้ และให้ความสนใจ โดยการรักษาสิทธิของตนเองมากที่สุด ในฐานะที่เป็นเจ้าของสหกรณ์ ซึ่งเป็นฟันเฟื่องสำคัญที่จะดูแลบ้านให้เข้มแข็ง ถ้าเพิกเฉยบ้านหลังนี้ เท่ากับเป็นการผล่อยให้บ้านรกร้างว่างเปล่า ทำให้เกิดมอด ปลวก มากัดแทะจนบ้านผุพัง อยากให้สมาชิกกลับมาดูบ้านหลังนี้ กำจัดมอด ปลวก ให้หมดไป โดยเลือกคนดี มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตว์ เข้ามาดูแลบ้าน ทั้งนี้ ทางรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันจะไม่ทอดทิ้ง เพราะมีความตั้งใจ และพยายามที่จะช่วยพัฒนาสมาชิกให้มีความแข็งแรง รวมทั้งสร้างการรับรู้สู่สมาชิกให้มากที่สุด ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ในทุกอำเภอ เพื่อทำงานใกล้ชิดกับสมาชิก แต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์ อยากให้สมาชิกได้พูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ่ายทอดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพร้อมจะรับรู้ปัญหา และจะเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อให้สหกรณ์ และสมาชิกมีความเข้มแข็ง เชื่อมั่นว่า สหกรณ์เป็นสิ่งสวยงาม เป็นสถาบันที่ทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดี” และในโอกาสที่วันสหกรณ์แห่งชาติ ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 101 ปี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กำหนดจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร และพิธีวางพานพุ่มสักการะพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ "พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย" เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด "สหกรณ์" ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ รวมทั้งสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับขบวนการสหกรณ์ไทย และเครือข่าย 5 ชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ กำหนดจัดงาน “วันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2560” โดยมีกิจกรรมถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ 9 รูป และจัดพิธีวางพานพุ่มสักการะพระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย ณ บริเวณลานพระรูปพระบิดาสหกรณ์ไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งมีดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ก็เช่นเดียวกัน ได้กำหนดจัดงาน “วันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2560” โดยมีกิจกรมวางพานพุ่ม เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ การจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานสหกรณ์สู่สาธารณชน เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบโดยทั่วกัน และส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ตระหนักถึงคุณค่าและศรัทธาในระบบสหกรณ์ รวมถึงส่งเสริมการใช้ระบบสหกรณ์ในการดำเนินชีวิตประจำวันแก่ประชาชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช