ไม่ใครอยากจากบ้าน จากถิ่นฐานที่เคยอยู่ จากคนที่รักไปอยู่แดนไกล แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเลือกทำได้ตามใจปรารถนา ในเมื่อทางเลือกบนแผ่นดินเกิดมีไม่มาก พวกเขา และเธอจำนวนไม่น้อยจึงตัดสินใจมาแสวงหาโอกาสและโชคชะตาในที่ไม่คุ้นเคยทั้งภาษา ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม เรากำลังพูดถึงคนไทยกว่า 3 หมื่นคนที่เข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 90 ของคนกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มงานใช้แรงงาน หาเช้ากินค่ำ นอกเหนือจากนี้ที่มีทักษะขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นพวกที่ทำงานในอู่ต่อเรือ เป็นกุ๊ก หรือเป็นช่างฝีมือ ส่วนประเภท White - Collar หรือกลุ่มที่เป็นงานชำนาญการนั้นเป็นคนจำนวนน้อย แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าสะอาด ปลอดภัย มีมาตรฐานสูง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าที่นี่จะเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับทุกคน บางคนยังอยู่เพราะยังไม่มีที่ไป บางคนก็อยู่เพื่อรอที่จะไปที่อื่น กว่าจะได้เข้ามาทำงานในสิงคโปร์อย่างถูกกฎหมาย โดยมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ไม่ใช่เรื่องง่าย แรงงานไทยจะต้องผ่านการทดสอบทักษะ ซึ่งกำกับดูแลโดยหน่วยงานแรงงานของสิงคโปร์ และเมื่อได้ทำงานแล้วจะต่อใบอนุญาตฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีก แม้จะนายจ้างอยากจะจ้างต่อ แต่ตามกฎหมายของประเทศนี้ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นประเทศที่เจริญแล้ว แรงงานที่จะอยู่ต่อก็ต้องพัฒนาศักยภาพไปตามความเจริญของประเทศ ต้องมีทักษะที่เพิ่มขึ้นจากเดิม นั่นหมายถึงจะต้องไปสอบทักษะเพิ่มเติมให้ได้ก่อน อ.รุ่งนภา กิติอาษา สอนภาษาอังกฤษให้แรงงานไทย คนไทยอยู่ที่ไหนใครก็รัก แรงงานไทยอยู่ที่ไหนใครก็ชอบ เพราะแรงงานไทยเป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นแรงงานเกรดเอ ขยัน อดทน แน่นอนผ่านระบบการคัดกรองที่เข้มงวดของเจ้าของประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "ค่าตอบแทน" ที่ได้รับจะอยู่ในระดับเกรดเอไปด้วย แปลกไม่น้อย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อเลือกที่จะอยู่บ้านเขา ก็ต้องยอมรับ และปฏิบัติตามกฎหมายของเขา ที่สิงคโปร์จะมีการกำหนดค่าจ้างที่ควรจะเป็นของอาชีพต่างๆ และแรงงานต่างชาติ โดยแบ่งไปตามโซนของประเทศ เช่นแรงงานไทยจะได้ค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 25 -30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน แรงงานจากจีนอยู่ที่ประมาณ 60 -70 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน แรงงานจากมาเลเซียได้ถึง 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน แรงงานจากเมียนมา เวียดนามได้ต่ำกว่า และกลุ่มที่มีมากขณะนี้คือ แรงงานจากบังคลาเทศพวกนี้ได้อยู่ที่ประมาณ 18 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวันเท่านั้น โดยทั้งหมดนี้ทำงานอย่างเดียวกัน ชั้นเรียนภาษาจีน เหนื่อยต้องอดทน เพราะความจนมันลำบากกว่า แต่ยังโชคดีที่แรงงานไทยในสิงคโปร์มีการรวมตัวเป็นกลุ่มอย่างแน่นแฟ้นกลมเกลียว แม้จะอยู่ไกลบ้าน แต่ก็ยังอบอุ่นหัวใจ "ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของแรงงานไทยในสิงคโปร์ ใครก็มาที่นี่ได้ ไม่มีผู้จัดการ ไม่มีเอ็นจิเนีย ไม่มีการศึกษาต่ำ ไม่มีการศึกษาสูง มาที่นี่เป็นเพื่อนกันหมด" นายปรีชา กรทอง ประธานสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ หรือปัจจุบันรู้จักอีกชื่อหนึ่งคือ ชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) ที่ตั้งอยู่ที่อาคารโกลเดนไมล์ คอมเพลค (Golden Mile Complex) แหล่งรวมร้านค้า ร้านอาหารไทย ซึ่งจะเป็นจุดที่คนไทยมารวมตัวพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน ปรับทุกข์กันยามเหงาเมื่อว่างเว้นจากการทำงาน โดยเฉพาะในวันหยุดที่ทั้งอาคารจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนพูดคุยกันด้วยภาษาไทยเรียกว่าแทบจะลืมไปเลยทีเดียวว่าที่นี่คือสิงคโปร์ จุดเริ่มต้นของสมาคมฯ นี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 จากกลุ่มคนงานที่อยากเรียนต่อปริญญาตรี7- 8 คนมารวมตัวกัน โดย ดร.พัฒนา กิติอาสา ซึ่งมาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และได้เข้ามาคลุกคลีกับคนงาน จึงได้รวมกลุ่มกัน โดยมีหัวหน้าสมทวี ก่อพัฒนศิลป์ ทูตแรงงานในเวลานั้น สนับสนุนจัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาได้ในปี 2547 อาคารโกลเดน ไมล์ คอมเพล็ก ทุกคนที่เข้ามาช่วยงานสมาคมฯ ล้วนแต่ทำด้วยจิตอาสา ไม่ได้รับค่าตอบแทน โดยสมาคมฯ เป็นตัวช่วยทางอ้อมแก่แรงงานที่ประสบปัญหาในการทำงาน การใช้ชีวิต มุ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตคนงานที่นี่ให้ดีขึ้น ผ่านทางการให้คำปรึกษา แนะนำว่าหากมีปัญหาต้องติดต่อใครอย่างไร ตลอดจนส่งเสริมอาชีพ ให้มีความรู้ไปประกอบอาชีพหากกลับบ้านไป ภาษายังเป็นจุดอ่อนของแรงงานไทย นายปรีชาซึ่งมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศแห่งนี้มากว่า 17 ปี แบ่งปันประสบการณ์ตรงให้ฟังว่า "บริษัทที่ผมทำ เมื่อก่อนมีคนงานต่างชาติ 1.2 พันคน เป็นคนไทยประมาณ 800 คน ที่เหลือเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า คนไทย 800 คนมีปัญหาเรื่องภาษา ถ้าจะจ้างต่อก็ต้องหมายความว่าคนงานมีความดีความชอบ ก็ต้องเพิ่มเงินให้ ไม่ใช่ต่อทุกปีๆ แต่เงินไม่เพิ่ม บางบริษัทต่อทุกปี แต่เงินไม่เพิ่มเลย คนงานก็กลับไปทำงานเมืองไทยหมด ค่าแรงไม่ต่างกันมาก แต่ที่นี่ค่าครองชีพสูง ตอนนี้ก็เหลือแค่ร้อยกว่าคน บริษัทไม่ได้อ้างว่าคนไทยภาษาไม่ได้ แต่ปัญหาของคนไทยคือภาษาไม่เก่งเท่าชาติอื่นในการต่อรอง การพูดคุย ฉะนั้นคนงานไทยจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็จะมีน้อยกว่าชาติอื่น" นางจัตุรพร เล็กกิมลิ้ม หรือ เจ๊โซเฟีย อาชีพเจ้าของธุรกิจ ผู้ซึ่งคลุกคลีให้การสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ และยังเป็นที่พึ่งของแรงงานไทยมาช้านาน เล่าว่า เรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานไทยโดยนายจ้างสมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้ว แรงงานไทยจริงๆ นั้นขายฝีมือ ก็เลยอยู่ในอีกระดับหนึ่ง ผิดกับสมัยก่อนทุกวันต้องพาคนที่เดือดร้อนไปกรมแรงงานสิงคโปร์วันละ 10 - 20 คน เพราะเรื่องเกี่ยวกับการเงิน สำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ช่วยไม่ได้ อย่างมากก็แค่โทรไปประนีประนอมเฉยๆ ถ้าจะเอาเรื่องเขา คนงานก็จะมาหา แล้วจะพากันไปติดต่อกรมแรงงานสิงคโปร์ ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้กรอกเลยว่าต้องการเรียกร้องอะไรบ้าง จากนั้นเขาก็จะส่งจดหมายไปให้นายจ้าง ซึ่งประเทศนี้ต้องการความประนีประนอม ถ้านายจ้างสามารถเจรจากันได้ จ่ายเงินลงนามเป็นหลักฐานเรียบร้อยถือว่าจบ แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะนัดทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกัน ตรงนี้ก็ต้องเจรจากันเอง คนพาไปไม่สามารถเข้าไปด้วยได้ ทำได้ในฐานะพี่เลี้ยงช่วยกรอกแบบฟอร์มเท่านั้น ชั้นเรียนแกะสลัก นอกเหนือจากจะรู้ว่า มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามที่ประสบปัญหาแล้ว สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ หรือ ชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) ยังทำกิจกรรมมากมายร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์ และวัดอานันทเมตยาราม ซึ่งทุกวันนี้ได้ทางวัดช่วยดูแลค่าเช่าพื้นที่สำนักงานสมาคมฯ กิจกรรมที่ทำก็จะมีอาทิ การสอนแกะสลัก สอนจัดดอกไม้ สอนตัดผม สอนภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมตัวไปสอบพัฒนาทักษะ สอนภาษาจีน ตลอดจนเป็นแกนนำในการรวมตัวของคนไทยในการทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี กิจกรรมทางศาสนา เช่น การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ งานบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นต้น ร่วมทอดกฐินที่วัดอานันทเมตยาราม แม้จะอยู่ไกลบ้าน แต่ยังอบอุ่นหัวใจ สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ หรือชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน (สิงคโปร์) แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของชุมชนคนไทยในต่างแดน เป็นอีกหนึ่งที่พึ่งนอกเหนือหน่วยงานภาครัฐ เพราะหัวใจที่เอื้อเฟื้อ น้ำใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยไม่เคยหายไปไหน แต่อยู่ในทุกที่ที่คนไทยไป คณะสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเข้าเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ หรือ ชมรมสามัคคีไทยไกลบ้าน(สิงคโปร์)