ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] กรมส่งเสริมฯหนุนแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม สืบสานวิถีชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ(จบ) วงปี่พาทย์ที่มาเล่นประกอบหนังใหญ่เป็นวงของวัดคุมวงโดยสุเทพ นิ่มอนงค์ วัย 78 ปี ขณะที่คณะแหล่งเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นไปถึง วงปี่พาทย์ที่เตรียมบรรเลงหนังใหญ่กำลังบรรเลงปรกติอยู่ลุงสุเทพนั่งตีตะโพนอยู่กับวงด้วย ผมถือโอกาสชวนคุยได้ฟังคำบอกเล่าว่าเดิมเป็นคนอัมพะวา บ้านอยู่ใกล้ๆอุทยานร.2 นั่นแหละ ฝึกปี่พาทย์มาแต่เด็ก แล้วทำวงปี่พาทย์มาแต่รุ่นหนุ่มมาที่นี่ทางวัดไปตามให้มาช่วยสอนเด็กๆ ลุงย้ำว่าอะไรก็ตามที่จะให้เก่งให้ชำนาญต้องฝึกซ้อมตลอด “ผมซ้อมทุกวันนะแล้วก็บอกเด็กๆว่าต้องขยัน ต้องซ้อมอย่าทิ้ง ในหลวงรัชกาลที่9 เมื่อทรงทำอะไรแล้วทรงฝึกทรงซ้อมศึกษาจึงทรงเก่งเป็นศิลปินหลายแขนง ทรงได้รับการถวายพระนามว่าอัครศิลปินนั่นเป็นความภาคภูมิใจของศิลปิน แล้วมีคนเคยมาบอกผมด้วยนะว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ทรงโปรดการแสดงดนตรีไทย แต่ไม่ค่อยมีโครรู้ มีไม่กี่คนรู้วาทรงโปรด”ลุงสุเทพบอกขณะดูลูกศิษย์บรรเลงไปด้วยยิ้มอย่างภูมิใจ ลุงสุเทพบอกด้วยว่าถึงจะยึดอาชีพทำวงปี่พาทย์มาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม แต่มีบางช่วงที่เกิดความเบื่อหน่าย ก็ทิ้งวงปี่พาทย์ลงทะเลไปเป็นชาวประมงซะราว 20 ปีแต่ก็ต้องกลับมาทำวงปี่พาทย์ต่อ “ผมมาสะกิดความรู้สึกที่เห็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีท่านทรงระนาด ท่านทรงขับร้องเพลงไทยเดิม แสดงว่าท่านโปรดดนตรีไทยผมก็เลยมาตั้งหลักทำวงปี่พาทย์ต่อเป็นอาชีพคราวนี้ไม่ได้ไปทำอะไรอย่างอื่น มาสอนเด็กๆที่โรงเรียนวัดขนอนนี่ตั้งแต่ปี2541 ลูกศิษย์เยอะมากเป็นพันแล้วมั้ง ไม่ใช่เด็กๆโรงเรียนวัดขนอนเท่านั้น โรงเรียนอื่นก็พาเด็กนักเรียนมาเรียนมาฝึก เฉพาะเด็กนักเรียนวัดขนอนที่พอเล่นได้ในดนตรีแต่ละชิ้นก็เอามาเข้าวงฝึกไปด้วยได้เงินไปด้วย อย่างต่ำสุดก็ 30 บาทต่อรอบส่วนใหญ่ฝึกหัดตั้งแต่ป.5 ไปผมสอนแบบเป็นวิทยาทานไม่ได้คิดค่าสอน แต่ผู้ปกครองบางคนที่พอมีฐานะเขาก็ให้ค่าสอน ก็เลยพออยู่ได้”ยิ้มมีความสุข มีคนย่านนั้นกระซิบบอกว่าลุงสุเทพ นิ่มอนงค์คนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยคนหนึ่งของท้องถิ่นถือว่าเป็นปราชญ์ได้ทีเดียว หลังจากตื่นตาตื่นใจกับการแสดงเชิดหนังใหญ่วัดขนอนโดยผู้เล่นเป็นเยาวชนชายที่กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มเยาวชนผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยมรดกแผ่นดินที่โลกยอมรับว่าเป็นวิถีที่มีละม้ายคล้ายคลึงไม่กี่ประเทศในโลก เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญงอกงามแห่งภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบสานมาจนถึงวันนี้คณะผู้บริหารพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทั้ง 50 เข้าชมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่ทางวัดเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ ณ อาคารไม้เรือนไทยอันงดงามวิจิตร ชมตัวหนังใหญ่ที่สุดในโลกน่าจะเป็นอย่างนั้นแล้วเข้าชมพิพิธภัณฑ์เฉลิมราชย์ต่อดื่มด่ำกับมุมอันเป็นวิถีไทยที่ถูกจัดแสดงไว้อย่างเป็นระบบจนได้เวลาจึงเดินทางต่อ ไปที่แหล่งเรียนรู้“จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว”วัดโขลงสุวรรณคีรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม โทร. 08-1763-1989 เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของวัดโขลงสุวรรณคีรี มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว และศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี ชมรมชาวไท-ยวน ราชบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่การสืบทอดวัฒนธรรมไท-ยวน ดำเนินการโดยดร.อุดม สมพรวัย 75 ปีพร้อมคณะอย่างเช่นเพิ่มสุข เมาระพงษ์และอาณัติ ขำแก้ววัย 84 เท่ากันเป็นกำลังสำคัญ จัดแสดงวัตถุที่ถือว่าเป็นมรดกของวิถีชีวิตอย่างเช่นผ้าไหมจกลายโบราณต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายไทยโยนกเชียงแสนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ ราชบุรีแล้วเรียกชุมชนว่าไทยยวนรวมถึงวัตถุสิ่งของอื่นๆ ตั้งแสดงไว้เรียกว่าเป็นสิ่งละอันพันละน้อย จึงเรียกง่ายๆ “จิปาถะ” แสดงไว้ ณ บ้านไม้เรือนสองชั้นภายในบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี อุดม สมพรบอกว่าสิ่งของจิปาถะที่รวบรวมไว้ล้วนเป็นภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตการทำมาหากินของคนท้องถิ่นที่เป็นไทยโยนกเชียงแสนนับย้อนไปรวมเวลาแล้วราว 200 ปี วันนี้ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ลืมภูมิปัญญาบรรพชนไปเยอะแล้วกลัวจะลืมรากฐานตัวเองก็เลยต้องตั้งแหล่งเรียนรู้นี้เอาไว้ ไม่อยากให้กลายเป็นคนลืมกำพืด จะถูกหาว่าเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายตีนและนี่คือวัฒนธรรมคูบัว “แหล่งเรียนรู้นี้รวมผ้าจากหลายแหล่งแต่เป็นผ้าคูบัวรวบรวมมาตั้งแต่ปี2523”ดร.อุดม สมพรสรุป เพิ่มสุข เมาระพงษ์หนึ่งในกำลังผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้เสริมว่า ที่ชั้นสองอาคารแสดงสิ่งของจิปาถะทางวัฒนธรรมตรงส่วนกลางห้องทำเป็นห้องเฉลิมราชย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศ์เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ แสดงพระราชประวัติที่ได้เสด็จฯราชบุรีถึง 17 ครั้งรอบๆจัดแสดงผ้าก็เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ทรงเห็นความสำคัญของผ้าทอมืออันเป็นภูมิปัญญาของไทยเราโดยเฉพาะผ้าไหมทอมือ “ที่สำคัญการดำเนินการนั้นน้อมนำเอาปรัชญาวิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาเป็นเครื่องมือดำเนินการ แล้วก็ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังให้ซึมซับวิถีพอเพียงตามวาระโอกาส เพื่อให้คนรุ่นหลังรุ่นหลานเดินตามคำสอนพระองค์”เพิ่มสุขกล่าวด้วยรอยยิ้ม เกริ่นข้างต้นว่าจากที่ได้พูดคุยการดำเนินการผู้รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนจากการได้ถ่ายทอดการดำเนินวิถีชีวิตตรงกันว่าได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นเครื่องมือดำเนินเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาชุมชนให้เกิดสืบสานอนุรักษ์บนพื้นฐานความสุขอย่างยั่งยืนที่น่าชื่นชมคือการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนศึกษาซึมซับการมีส่วนร่วมสืบสานอย่างเช่นนางสาวมัลลิกา เส็งเอี่ยม พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ กำลังเรียนมหาวิทยาลัยสุทัยธรรมาธิราชเป็นกำลังสำคัญหนึ่งของชุมชนที่ร่วมอนุรักษ์สืบสานบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวมรดกของชุมชนที่ชุมชนรวมพลังคอยสนับสนุนอยู่ “ตัวหนูเองคิดว่ายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงร.9 ทรงสอนไว้เพราะได้รับการถ่ายทอดมาทั้งจากที่โรงเรียน จากพ่อแม่แล้วก็ผู้ใหญ่ ที่ว่าต้องมีความรอบคอบทั้งในการดำเนินชีวิตทั้งในการทำงาน รู้จักวางแผน ระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบสิทธิของคนอื่นทำให้เขาทุกข์แล้วก็ทำให้ตัวเราทุกข์ด้วย แล้วผลที่ทำต้องเกิดการพัฒนา ต้องรู้จักใช้รู้จักให้ตั้งอยู่ด้วยสติแล้วเราจะมีความสุข เราต้องคำนึงถึงการดำเนินชีวิตด้วยศีลธรรมคุณธรรม เท่าที่หนูเคยฟังพระราชดำรัสได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตรัสอยู่นะ ในการเข้ามาร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้พัฒนาพิพิธภัณฑ์นี้ให้เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรมวัตถุการดำเนินชีวิตของชุมชนเอาไว้ให้ผู้สนใจศึกษาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาหนูก็เอาแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้เช่นการทำงานร่วมกับคนอื่นต้องมีน้ำใจ รู้จักให้อภัยกัน ระมัดระวังไม่ประมาทจนเกิดผลกระทบ”นางสาวมัลลิกาทิ้งท้าย