กรมชลประทานกำหนดให้การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกรมฯ เพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมฯ เรียนรู้กระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คาดหวังให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ได้ โดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาจัดกระบวนการยกร่างแผนกลยุทธ์การมีส่วนร่วมกรมชลประทานในรูปRoad Map นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ประกาศยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการทำงานของกรมฯ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เป็นครั้งแรก ด้วยนั้น ในชั้นต้นจะจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และระดมความเห็นจากข้าราชการกรมทุกระดับ และทุกภาค เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของกรมฯ ขณะเดียวกัน ได้วางแผนสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.)ให้ครอบคลุมภายในสำนักงานชลประทานทั้ง 17 สำนักทั่วประเทศ จากที่มีอยู่แล้วในระดับสำนักและกอง 13 แห่ง “เป็นการพัฒนาคนของกรมชลประทานเอง ให้มีความรู้ความเข้าใจระดับเข้มข้น เพื่อเข้าไปส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่ พูดง่ายๆ เป็นโค้ช เพื่อขับเคลื่อนงานบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตัวของประชาชนเอง” นายสุจินต์กล่าวอีกว่า กรมชลประทานวางเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชน จนถึงขั้นวางแผนยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำ เพราะเชื่อมั่นว่า โดยกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจะค่อยๆ พัฒนาประชาชนเข้มแข็ง จนถึงขั้นร่วมวางแผนยุทธศาสตร์น้ำในพื้นที่ได้ “ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะวางแผนเองได้ในทันที แต่ต้องมีกระบวนการขั้นตอนการเรียนรู้ โดยดำเนินการ ในรูปทีมชลประทานท้องถิ่น ซึ่งมีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินการตามนโยบายประชารัฐ เช่น ภาคอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ ระบบนิเวศ เป็นต้น แล้วร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา หาความต้องการน้ำในปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำ โดยใช้ศาสตร์พระราชาเป็นตัวกำกับในการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และมีประชาชนด้วยกันตรวจสอบข้อมูลกันเอง” นายสุจินต์กล่าว นายสุจินต์ยอมรับว่า การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บางแห่ง ประสบปัญหาความไม่เข้าใจจากประชาชนในพื้นที่ แต่เมื่อใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะคลี่คลายปัญหาได้ค่อนข้างดี เพราะมีส่วนรับรู้ ร่วมคิด ในทุกขั้นตอนปัญหาตั้งแต่ต้นจนจบ “เป็นทิศทางการดำเนินงานของกรมชลประทานมาหลายปีแล้ว แต่ยังทำกันในวงแคบเฉพาะบางพื้นที่ ถึงจะใช้เวลานาน 1-3 ปี แต่ประสบผลสำเร็จดีทีเดียว เช่นโครงการฝายท่าลาด จ.ฉะเชิงเทรา โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช และ โครงการพัฒนาลุ่มแม่ตาช้างแบบมีส่วนร่วม จ.เชียงราย เป็นต้น”