ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ศิลปะในรัชกาลที่ 9 สัปดาห์นี้นำภาพงานประติมากรรม ที่จะนำไปประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มาให้ชมกัน หลายท่านคงเห็นภาพประติมากรรม องค์พระวิษณุ พระพรหม และสัตว์มงคลซึ่งมีขนาดใหญ่ผ่านสายตาทางสื่อกันไปบ้างแล้ว ส่วนตรงนี้นำเสนอภาพรวม ที่ตอนนี้กลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กำลังปั้นตกแต่งรูปกันอยู่ที่โรงหล่อสำนักช่างฯ พุทธมณฑล ศาลายา จ.นครปฐม กล่าวการจัดสร้างประติมากรรมนำไปประดับตกแต่งรายรอบพระเมรุมาศนั้น เป็นไปตามปรัชญาและคติความเชื่อของวัฒนธรรมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล สมัยสุโขทัย อยุธยา ลุมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยแนวความคิดในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล “ยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติในพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงจักรวาลอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสามเป็นสำคัญ ทั้งจินตนาการว่าพระสุเมรุนั้นแวดล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา เช่น วิมานท้าวจตุโลกบาล ผู้รักษาเหลี่ยมเขาพระสุเมรุทั้ง 4 ทิศ และเขาสัตบริภัณฑ์” (“คติการสร้างพระเมรุ” วัฒนรักษ์ ก.พ.60) สำหรับการจัดสร้างประติมากรรม เทวดาและสัตว์มงคลประกอบพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากข้อมูลเอกสารกรมศิลปากรเผยแพร่ (27 ม.ค.60) ได้กำหนดไว้ดังนี้ 1. เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ จำนวน 12 องค์ (เชิญพุ่มโลหะ 4 องค์ เชิญฉัตร 8 องค์) 2. เทวดานั่งรอบพระเมรุมาศ จำนวน 56 องค์ (เชิญฉัตร/บังแทรก) 3. พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม อย่างละ 1 องค์ รวมจำนวน 4 องค์ 4. ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ (ชั้นที่ 3) จำนวน 4 คู่ (8 ตัว) 4 ทิศ 5. ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ (ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก) 6. สัตว์มงคลประจำทิศ (ช้าง ม้า วัว สิงห์) ประดับทางขึ้นบันได (ชั้นที่1) ประจำทิศ ละ 1 คู่ จำนวน 8 ตัว ด้านกลุ่มประติมากรรม ช่างสิบหมู่ดำเนินงานไปตามขั้นตอน ออกแบบลายเส้น ปั้นต้นแบบ ขยายแบบเท่าจริง ขึ้นโครงสร้างและผูกไม้ครอส ขึ้นดินโกลนหุ่น ปั้นกายวิภาค ใส่เครื่องประกอบ เก็บรายละเอียด ทำพิมพ์ หล่อชิ้นงาน ตกแต่งชิ้นงาน ลงพื้นและเขียนสี ลงสีทอง/ปิดทองคำเปลว ประดับแวว และติดตั้งประกอบพระเมรุมาศ สำหรับความคืบหน้า (20 ก.พ. 60) ประสพสุข รัตน์ใหม่ ประติมากรรมชำนาญพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะช่างได้ปั้นองค์พระพรหมเสร็จแล้ว และตอนนี้ได้ดำเนินการปั้นองค์พระวิษณุ หนึ่งในองค์มหาเทพ ตนและคณะช่างได้ทำการขึ้นรูปมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา องค์พระวิษณุที่จัดสร้างนี้ มี 4 กร โดยสองกรด้านหน้า มีลักษณะประนอมมือระหว่างทรวงอก ส่วนอีก 2 กร ได้แก่ กรด้านขวาถือจักร และด้านซ้ายถือสังข์ฉลองพระองค์ดั่งพระมหากษัตริย์ ที่บริเวณแท่นฐานมีสัญลักษณ์ของครุฑ ซึ่งถือเป็นพาหนะขององค์พระนารายณ์อยู่ตรงบริเวณฐานด้านล่าง โดยทั้งองค์รวมฐานแล้วมีขนาดความสูง 2.75 เมตร “ความพิเศษของการปั้นองค์พระวิษณุในครั้งนี้ จะใช้ศิลปะในยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 คือ ทั้งองค์จะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากขึ้น มีทั้งแววตา มีโครงสร้างของกล้ามเนื้อ ใส่ลายละเอียดของฉลองพระองค์ และเครื่องประกอบต่างๆ มีความสง่างามทั้งองค์” ประสพสุข กล่าวประติมากรรมองค์พระวิษณุ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้คณะช่างยังได้ดำเนินการสเก็ตร่างแบบเพื่อเตรียมขึ้นรูปอีก ได้แก่ หน้าพระโพธิสัตว์นูนสูง ครุฑหัวเสา 3 ระดับ ครุฑยืน โครงร่างท้าวพระเวสสุวรรณ รวมถึงวางเหล็กโครงสร้างจตุโลกบาล ในส่วนสัตว์หิมพานต์ ช่างเพชรบุรีดำเนินการ ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ศิลปะในรัชกาลที่ 9 จะได้นำภาพมาเสนอเป็นระยะๆ