เมื่อวันที่ 26 ก.พ.60 ที่โรงแรม Shwe Maung Than เมืองทวาย ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า ได้มีการเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาและสิทธิมนุษยชน แนวทางการบริหารจัดการร่วมในกรณีการลงทุนของธุรกิจสัญชาติไทยในพม่า” โดยมีตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย(กสม. ) เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยและพม่า ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเข้าร่วม นาย อ่อง ทู เนียน(Aung Thu Nyein) นักวิชาการจากสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงพม่า(Istitute of Strategy and Transition Myanmar) กล่าวว่า แม้พม่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2015 แต่ดูเหมือนสถานการณ์ประชาธิปไตยในพม่าจะแย่ลง เพราะรัฐบาลยังคงจับตาการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิที่ดิน จนทำให้มีหลายกรณีที่ถูกจับกุม อีกทั้งการบริหารงานของรัฐบาลยังเป็นการรวมศูนย์ ไม่ทันต่อสถานการณ์ เกิดการคอรัปชั่น และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวัง “การรวมศูนย์อำนาจ เศรษฐกิจที่ยังติดลบ การห้ามภาคประชาสังคมพูด เป็นอุปสรรคของการพัฒนา เพราะรัฐบาลไม่เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม แล้วยังมองว่าเป็นคู่แข่งของรัฐบาล ทั้งที่หนึ่งในข้อตกลงการเจรจาสันติภาพที่เนปิดอว์ ระบุให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ แต่ตอนนี้เอ็นจีโอไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย” นาย อ่อง ทู เนียน นาย ทัน ซิน (Thant Zin) ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวาย(DDA) กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะนาวศรีภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มีการลงทุนเข้ามาหลายโครงการ ซึ่งจะส่งผลกระทงต่อสิทธิชุมชนในอนาคต ปัจจุบันชาวบ้านกำลังประสบปัญหาการไล่รื้อเพื่อตัดถนนเพื่อเชื่อมสู่ประเทศไทย แต่จนถึงวันนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชย นอกจากนี้โครงการเขื่อนกะโลนท่าที่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านจะต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำป้อนสู่โรงงานอุตสาหกรรม นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม. กล่าวว่า 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยกำหนดนโยบายการพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองแห่งการทำเหมืองแร่ดีบุก แต่คนภูเก็ตไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น จึงร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวแทนโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและกระบี่ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันมีการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนยาวกว่า 170 กิโลเมตร ทวายวันข้างหน้าไม่รู้จะเป็นแบบนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นเมืองที่พัฒนาการท่องเที่ยว การศึกษา การเกษตรก็จะเป็นการพัฒนาอีกแบบที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่การพัฒนาอาจผิดอย่างเดียวที่ไม่เคยถามประชาชนว่าอยากเห็นการพัฒนาเป็นอย่างไร เมื่อเราตั้งคำถามผิด คำตอบก็ไม่ไปไหน คิดว่าต้องชวนกันตั้งคำถามว่าทวายมีศักยภาพแบบไหนที่จะทำให้คนทวายมีความสุขที่สุดแล้วค่อยร่วมตัดสินใจกัน นอกจากนี้ในเวทีมีการอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนของ 26 องค์กรภาคประชาสังคมของไทย ต่อความรับผิดชอบข้ามพรมแดนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบุว่า การลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นโครงการซึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐ และโครงการของเอกชน ส่งผลให้เกิดข้อกังวลเนื่องจากไม่มีการตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการลงทุนเหล่านั้น โครงการขนาดใหญ่ของไทยซึ่งลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ เชื่อมโยงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เขื่อนบนแม่น้ำสาละวินของพม่า ไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเกาะกงและโอดอร์เมียนเจย (อุดรมีชัย) กัมพูชา เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าที่หงสา เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขง แถลงการณ์ระบุว่า เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจะต้อง 1.แสดงความคาดหวังที่ชัดเจนว่าบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจากไทย ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนในระหว่างการดำเนินงานในต่างประเทศ และให้ดำเนินการเพื่อตรวจสอบ ป้องกัน สอบสวน ลงโทษ และเยียวยาเมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น 2.จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับพันธกรณีนอกอาณาเขตและการลงทุนข้ามพรมแดน 3.ประกันว่าหน่วยงานธุรกิจของไทยกำหนดให้มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ข้อกำหนดให้มีการตรวจสอบเมื่อมีการลงทุนข้ามพรมแดน และกำหนดให้มีขั้นตอนรับข้อร้องเรียนระดับบริษัท ซึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานสามารถใช้สิทธิในการร้องเรียนได้ แถลงการณ์ระบุว่า 4.ดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับพันธกรณีของหน่วยงานของรัฐ บริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งลงทุนในพื้นที่ที่มีสงครามความขัดแย้ง รวมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ก่อนจะอนุมัติให้มีการลงทุนนั้น 5.กำหนดให้มีหรือพัฒนากลไกรับคำร้องที่เข้าถึงได้และเป็นผลในระดับประเทศ รวมทั้งกลไกของศาลและกลไกอื่น ๆเพื่อการเยียวยาเมื่อเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัทจากไทยในต่างประเทศ 6.ร่วมมือกับหน่วยงานพหุภาคี ทั้งอาเซียนและธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีและสถาบันอื่น ๆ เพื่อประกันว่าหน่วยงานเหล่านี้ส่งเสริมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติในระหว่างการดำเนินงานของตน 7.ต้องมีหลักประกันว่า มาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จะต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานตามกฎหมายไทยในประเทศที่ไปลงทุนหรือประกอบกิจการ แม้ว่าประเทศนั้นๆจะไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าวก็ตาม