องค์การอนามัยโลกระบุ มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่า7ล้านคนทั่วโลก คาดปี 63 จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง16ล้านคน และอัตราเสียชีวิตจะสูงถึง10ล้านคนทุกปี โดยมีคนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน ปัจจุบัน การรักษามีหลายวิธี ได้แก่ ผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายรังสี รศ.นพ. นรินทร์ วรวุฒิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากองค์ความรู้ที่มากขึ้นพบว่ามะเร็งสามารถหลบเลี่ยงการทำลายจากภูมิคุ้มกันร่างกายได้ โดยสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่าPD-L1มายับยั้งการทำงานของเซลล์พิฆาตมะเร็ง (Cytotoxic T Cell หรือเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง) บวกกับความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีทำให้มีการพัฒนาการรักษามะเร็งแบบใหม่ “การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง” หรือ “Immuno-Oncology” โดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ยากลุ่มนี้จะทำให้โปรตีน PD-L1ไม่สามารถยับยั้งเซลล์พิฆาตมะเร็งได้จึงทำให้เซลล์พิฆาตมะเร็งทำลายมะเร็งได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีผลกระทบเซลล์อื่นๆ ของร่างกายน้อยกว่า จึงมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยกว่า ข้อดีของภูมิคุ้มกันร่างกายอีกข้อคือ ความสามารถในการจดจำเซลล์มะเร็งรวมถึงสิ่งแปลกปลอมในร่างกายได้ในระยะยาว จึงช่วยป้องกันมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำได้ การศึกษาในนานาประเทศพบว่าผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีผิว และมะเร็งปอดระยะลุกลามที่รักษาด้วยวิธีนี้ รอดชีวิตมากกว่า2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ใช้เคมีบำบัด อีกทั้งคุณภาพชีวิตยังดีขึ้นกว่ารักษาแบบอื่นๆ การรักษาในรูปแบบ “รักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง” นี้ใช้กันแพร่หลายในสหรัฐฯและยุโรปกว่า 50 ประเทศ รวมถึงเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน โดยใช้ในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งศีรษะ-ลำคอ มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สำหรับไทย ปัจจุบัน ยาในกลุ่ม “ภูมิคุ้มกันบำบัดกำจัดมะเร็ง” ได้รับอนุมัติให้ใช้โดยองค์การอาหารและยา (อย.) สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเม็ดสีผิว และมะเร็งปอด เท่านั้น