ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] บ้านเล็กในป่าใหญ่ “บ้านห้วยหญ้าไซ” ผู้ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ชุมชน ประเทศชาติได้ประโยชน์ยั่งยืน พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยมุ่งเน้นให้ “คน” อยู่ร่วมกับ “ป่า” ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน “คน” ไม่ทำลายป่า ร่วมฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรร่วมมือกันปลูกป่า และดูแลรักษาป่า รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยอาศัยอยู่ในป่าในลักษณะ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" จากสภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย แหล่งต้นน้ำลำธารเหือดแห้ง พระเมตตาที่ทรงห่วงใยและเกรงว่าพสกนิกรของพระองค์จะขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรที่จังหวัดเชียงราย ณ บ้านห้วยหญ้าไซ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 3 โดยจังหวัดทหารบกเชียงราย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดตั้งหมู่บ้านในลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้น โดยให้นำราษฎรที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนพื้นที่ทำกินให้เข้าอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณแหล่งต้นน้ำแม่ตาช้าง เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ให้เกิดความผูกพัน รัก และหวงแหนป่า โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านห้วยหญ้าไซ เป็นพื้นที่ทำกินเก่าของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ซึ่งมีราษฎรชาวเขาเผ่าอาข่าจากหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย จำนวน 21 ครอบครัว 92 คน ได้เข้าอาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 15,000 ไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาความเป็นอยู่ตามลำดับ ทั้งในเรื่องการพัฒนาอาชีพการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การศึกษาควบคู่กันไปอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยเน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างมีความสุข ไม่ทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์ ที่สำคัญปลูกจิตสำนึกให้มีความรัก และหวงแหนธรรมชาติ ให้อยู่คู่กับชุมชนนานสืบไป ซึ่งผลที่ตามมา คือ ชุมชน และประเทศชาติได้ประโยชน์จากการรักษาต้นน้ำ รักษาป่า ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ พื้นที่จุดนี้เป็นพื้นที่ล่อแหลมเกี่ยวกับยาเสพติด หลังจากโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งนี้เข้ามา นอกจากจะสร้างป่าสร้างคนแล้ว ยังเป็นการสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย มีการน้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 เรื่อง “ป่าเปียก” มาพัฒนาในพื้นที่ ตามทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟ ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าเปียก โดยก่อสร้างฝายพื้นที่ต้นน้ำแบบผสมผสาน เพื่อกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำไว้สร้างความชุ่มชื้น และเก็บกักตะกอนดินไว้ได้บางส่วน ปัจจุบันได้ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขาได้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อย่างยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ไปตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านห้วยหญ้าไซ อยู่พอสมควรอันกล่าวได้ว่า เป็นการไปทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุขอย่างยั่งยืนโดยอาศัยการพึ่งพิงทรัยากรธรรมที่ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูให้คงความอุดมสมบูรณ์มิให้เกิดการบุกรุกทำลาย เป็นไปดังพระราชปณิธานคนอยู่ร่วมกับป่าป่าอยู่กับคนมีความสุขเกื้อกูลกันและกัน โดยภายในโครงการได้มีการจัดทำแปลงเกษตรเพื่อการศึกษาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเช่นการทำนาดําบนที่สูงแบบนาขั้นบันได ทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 250 ไร่ต่อปี เป็น 450 ไร่ต่อปี ส่งผลให้เพิ่มผลผลิต รายได้ของราษฎรเพิ่มขึ้นจาก 30,000 บาทต่อปีต่อครัวเรือน เป็น 60,000 บาทต่อปี ต่อครัวเรือน ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีความสุขอย่างยั่งยืนและมั่นคง นอกจากการเกษตรแล้วยังมีการส่งเสริมศิลปาชีพ อาทิ เครื่องเงิน จักสาน ผ้าปัก ต่างๆ รวมถึงการดำรงชีพบนแนวทางวิถีชีวิตที่พอเพียง เป็นวิถีการดำเนินชีวิตด้วยอาชีพเสริมที่สามารถสร้างขึ้นได้กับการอยู่ร่วมกับป่าตามวิถีแห่งบ้านเล็กในป่าใหญ่ เลี้ยงชีพโดยใช้ของป่า หาผลิตผลจากป่า ทั้งอาหารและสมุนไพรการดำเนินชีวิตดังกล่าวชาวชุมชนยังได้ดำรงรักษาวิถีชีวิตของชาวเขาบนที่สูงคือประเพณีที่ควรได้รับการอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คงอยู่เป็นวัฒนธรรมที่สวยงามต่อไปด้วย ในส่วนของการศึกษาชาวชุมชนบนที่สูงยังได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจนสามารถมีการอ่านออกเขียนได้มีพัฒนาการแบก้าวรุดหน้าอย่างน่าพอใจยิ่ง แม้จะอยู่ในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลความเจริญ ก็มีหนังสือพิมพ์มี นิตยสารอ่านกันพอสมควร อันเป็นการเสริมสร้างภูมิความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การดำรงชีพและการก้าวทันสังคมภายนอกได้เป็นอย่างดี นางสาวจีรนันท์ ยี่บือ ราษฎรที่อยู่ในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านห้วยหญ้าไซ กล่าวความรู้สึกว่าตน ขอขอบคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ทรงให้จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่บ้านห้วยหญ้าไซ ตนและราษฎรทุกคนต่างมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์ท่าน และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้มีบ้านอยู่ มีที่ทำกิน และมีครอบครัวที่มีความสุขในวันนี้ “ดิฉันในฐานะตัวแทนของราษฎรในโครงการ ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 และขอกราบขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง ในโอกาสนี้ด้วย”นางสาวจีรนันท์ ยี่บือ กล่าว นายนรินทร์ ประทวนชัย ผู้อำนวยการส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษสำนักบริหารพื้นที่อนุกรัษ์ที่ 15 (เชียงราย) ผู้รับผิดชอบโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 กล่าวสรุปว่า วันนี้โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านห้วยหญ้าไทรได้รับการพัฒนาทุกด้านเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนในพื้นที่พร้อมๆกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าทั้งแหล่งน้ำ เป็นแหล่งสร้างงาน แหล่งเรียนรู้ด้านอาชีพวันนี้ราษฎรส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยส่วนหนึ่งยังมาทำงานในโครงการอีกส่วนหนึ่งนำความรู้ความชำนาญไปพัฒนาพื้นที่ตัวเองจนมีกำลังทางการเงินส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ มีความสุขตามวิถีพอเพียงอย่างยั่งยืน ----------------------