27 ก.พ.นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร และหัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการทำข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างตลาดทุนในประเทศอาเซียน ภายใต้โครงการควมร่วมมือครั้งแรกของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง คือ ตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซ่ามาเลเซีย ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบรนด์อาเซียนในการเป็นตลาดซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย ให้โดดเด่นและเป็นที่น่าสนใจในสายตาลงทุนโลก ทั้งนี้จะอ้างอิงจากดัชนี เอ็มเอสซีไอ และฟุชชี่ ซึ่งถือเป็นดัชนีอ้างอิง ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบัน ที่ลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทน เรื่องของการลงทุน ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัว MSCI ASEAN Indexes ไปแล้วเมื่อกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา โดยนำ 34 บริษัทจดทะเบียนของไทยเข้าคำนวณในดัชนีดังกล่าวด้วย "วัตถุประสงค์การจัดทำ ASEAN Indexes ขึ้นเพื่อ ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค เข้ามากระจายการลงทุน ในกิจการที่มีความโดดเด่นของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม หากชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาจจะพิจารณาจัดตั้งกองทุนรวมในระดับอาเซียน และจัดทำแผนทางด้านการตลาด เพื่อโปรโมทดัชนีอาเซียนอินสำหรับประเทศถัดไปที่จะเข้าคำนวณใน ASEAN Indexes จะเป็นตลาดทุนในอาเซียนทั้งหมด คาดว่าจะชัดเจนในปีนี้" นายภากร กล่าว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกันส่วนที่เหมือนกันคือทั้งสองที่ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นจนจบ ในโครงการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ แต่ในเรื่องขององค์ประกอบของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนอาจจะมีความแตกต่างกัน เพราะบริษัทของมาเลเซียจะมีองค์ประกอบของธุรกิจที่เป็นแบบสอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย เช่น ธุรกิจพลังงาน รัฐวิสากิจที่แปรรูปมาเป็นเรื่องต่างๆ การเกษตร และธนาคารที่มีมากในประเทศมาเลเซีย ส่วนของตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น พลังงาน ธนาคาร โรงแรม โรงพยาบาล และอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปแต่ในความแตกต่างสามารถนำมารวมกัน และทำให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจได้ ยิ่งไปกว่านั้นนักลงทุนแต่ละประเทศมีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน เช่น ของมาเลเซียส่วนใหญ่ จะเป็นนักลงทุนสถาบัน ส่วนของไทยส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายย่อย ดังนั้น ส่วนเหล่านี้สามารถนำมาเสริมกันได้ ยิ่งถ้าสามารถรวมหลายหลายประเทศในอาเซียนเข้ากันได้ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น และจะทำให้เป็นกลุ่มประเทศที่ใหญ่ขึ้นถ้ามองในเอเซียก็จะใหญ่เป็นอันดับสามเพราะฉะนั้นนี่คือความน่าสนใจที่ตลาดหลักทรัพย์มองว่าความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนจะทำให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ส่วนข้อดีในอีกด้านคือถ้ามีนักลงทุนที่เข้ามาในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ก็มีความสามารถที่จะระดมทุนมากขึ้นเพราะมีนักลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นมีคนที่สนใจในธุรกิจในแต่ละภูมิภาคมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้คือความน่าสนใจ ว่าทำไมตลาดหลักทรัพย์ ถึงต้องการมีความร่วมมือกัน ส่วนขั้นต่อไปที่ตลาดหลักทรัพย์จะร่วมกันทำก็คือการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เป็นอาเซียนโปรดักส์ โดยจะมีกองทุนรวมอาเซียน อีทีเอฟอาเซียน หุ้นของกลุ่มในประเทศอาเซียน เข้ามาซื้อขายกันในระหว่างประเทศอาเซียน สิ่งเหล่านี้คือโครงการที่ตลาดหลักทรัพย์มองไว้ในอนาคต