จากการที่รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการปฏิรูปด้านต่างๆในพัฒนาประเทศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้ปรับทิศทางและเป้าหมายองค์กรในอีก 20 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยวางยุทธศาสตร์ในการก้าวไปสู่ความเป็น “ฝนหลวง 4.0” ภายใต้วิสัยทัศน์ “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579”โดยน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทาน มาใช้เป็นพื้นฐานดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมาย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของการไปสู่เป้าหมายครั้งนี้ คือ กรมฝนหลวงฯ จะก้าวสู่การเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับนานาชาติ และแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ 100% ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านการบิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ “ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ขอพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ปราชญ์แห่งการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งปราชญ์แห่งการอนุรักษ์ดินและป่าต้นน้ำ กรมฝนหลวงฯยังได้ร่วมกับกรมชลประทาน และกรมป่าไม้ ดำเนินโครงการ“ความร่วมมือ R3 เพื่อการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำอย่างบูรณาการ” ในพื้นที่ “เขื่อนแก่งกระจาน” จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เสด็จฯ ทรงงานที่สำคัญหลายเหตุการณ์ และเป็นสถานที่ที่ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515” นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำและป่าต้นน้ำระหว่างกรมฝนหลวงฯ กรมชลประทาน และกรมป่าไม้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งเกษตรกรทั้งในและนอกเขตชลประทาน มีการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ การเติมน้ำในเขื่อนและเสริมน้ำฝนเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่าและพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการโปรยเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน 2,142.69 ตารางกิโลเมตร โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2560 “ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 นั้น ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 10-12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัดโดยกรมฝนหลวงฯจะเริ่มเปิด“ยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง” ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม 2560 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย โดยเฉพาะการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนลำตะคอง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของน้ำใช้การได้ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการเสริมอื่นๆ เช่น การลดปัญหาหมอกควัน การเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน และยับยั้งการเกิดลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงฯจะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง และจะพัฒนา “เทคโนโลยีฝนหลวง” ซึ่งเป็นศาตร์และมรดกที่ “พ่อ”มอบให้ ให้สามารถช่วยเหลือคนไทยทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป” นายสุรสีห์ กล่าว ทีมข่าวภูมิภาค