กรมชลประทานเดินหน้ารุกการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเดิมนำร่องโครงการแก้ปัญหาน้ำประชารัฐ โดยให้สำนักงานชลประทานที่ 9 ประเดิมในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก โดยผ่านคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านจัดทำยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำด้วยตัวเอง แล้วนำเสนอให้กรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อน นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 9 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 8 จังหวัด ได้ร่วมกับกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ที่จะให้สำนักงานชลประทานที่ 9 เป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ กำหนดดำเนินการทั้ง 8 จังหวัด จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และ นครนายก “พื้นที่ที่จัดทำยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำนำร่อง อาจเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน เราต้องการทำเป็นโครงการนำร่อง โดยผ่านคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น ซึ่งมีตัวแทนจากภาค ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว รักษาระบบนิเวศ เท่ากับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการหยิบยกปัญหาน้ำในพื้นที่ และทางออกของปัญหา เพื่อจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์น้ำตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จนถึงลุ่มน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะนำแผนยุทธศาสตร์นี้ไปศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างต่อไป” นายเกิดชัยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ นอกจากประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนแล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ปัญหาน้ำโดยผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่เอง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจของประชาชน อีกทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ..... ที่กำหนดให้พื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการต่างๆ ด้วย“เราอาจเริ่มช้าไปบ้าง แต่เป็นทิศทางที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เชื่อว่าจะทำให้การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำเหมาะสมยิ่งขึ้น และลดอุปสรรคความไม่เข้าใจลงได้มาก” กรมชลประทานใช้เครื่องมือแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ 2 กรณี ในกรณีที่เป็นพื้นที่ชลประทานเดิม 30 ล้านไร่ จะให้เครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของชาวบ้าน ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่ได้รับการฝึกอบรม ลงไปจัดเวทีเสวนาในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำที่ประสบอยู่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ดีขึ้น ส่วนพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 30 ล้านไร่ ให้คณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น ซึ่งเป็นภาคส่วนของประชาชน เข้าไปจัดทำยุทธศาสตร์น้ำในระดับลุ่มน้ำ เพื่อเสนอกรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมต่อไป