ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า ในพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถรัชกาลที่9 (1) เสกสรร สิทธาคม [email protected] "...ข้าพเจ้ามีความภูมิใจในทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของไทยมาก ข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างระมัดระวังและทำนุบำรุงให้คงอยู่ตลอดไป มิใช่ให้ประวัติศาสตร์จารึกได้ว่า ทรัพยากรเหล่านี้ถูกทำลายหมดสิ้นในระยะเวลาอันสั้นแค่อายุของเรา ทรัพยากรธรรมชาตินับเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ และเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ สมควรที่เราทั้งหลายจะช่วยกันรักษาไว้ให้คงเป็นประโยชน์สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน..." พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 พระราชทานเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2526 สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ .ในรัชกาลที่9 ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ด้วยทรงตั้งพระราชปณิธาน เพื่ออนุรักษ์ป่าที่สมบูรณ์ไว้ให้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ของสังคม สนับสนุนราษฎรในบ้านร่มเกล้าและหมู่บ้านใกล้เคียง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อันเกิดจากประโยชน์ของความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำ เมื่อพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีของป่าที่มีความชุ่มชื้นย่อมสามารถได้พึ่งพาอาศัยในการประกอบอาชีพ ตามวิถีพึ่งพาอาศัยกันเกื้อกูลกันตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ คนอยู่กับป่าป่าอยู่กับคนเกื้อกูลกันไม่ทำลายกัน จึงสามารถนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ พระราชดำริให้จัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ดังกล่าว ย่อมสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลก และประเทศได้ด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ทรงมีพระราชเสาวนีย์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542 ให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จัดตั้งศูนย์รวมพรรณไม้บ้านร่มเกล้า ในพระราชดำริขึ้นในพื้นที่ส่วนปลายของเทือกเขาภูสอยดาว ซึ่งมีพื้นที่ 1,385 ไร่ เป็นภูเขาและหุบเขาลอนลาด อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 750-1,250 ม. จึงทำให้มีความหลากหลายของระบบนิเวศป่าและพรรณพืช อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ในวันนี้พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ฯและรอบรัศมีมีสภาพป่าเขาที่สมบูรณ์รวมไปถึงพรรณไม้นานาชนิดเกิดขึ้นทั้งนี้ก็เพราะน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ที่ทรงต้องการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ด้วยพระราชปณิธานในการรักษาป่าทรัพยากรธรรมชาติไว้เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของประเทศและของโลก ด้วยทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่ทรงเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณูปการต่อสรรพชีวิต จึงทรงมุ่งมั่นในการนำพาประชาชนเห็นความสำคัญและร่วมอนุรักษ์และเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่กับประเทศไทย ซึ่งผลที่ตามมาคือยังประโยชน์ที่จับต้องได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ รวมไปถึงการรักษาผืนป่าให้คงคู่กับประเทศไทยไว้ได้อย่างดี การไปเยือนพื้นที่เดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงจากอำเภอเมืองพิษณุโลกถึงสวนพฤกษศาสตร์ฯ บ้านร่มเกล้า นายประมุข เพ็ญสุต อดีตผู้บริหารรองผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ฯร่มเกล้า กล่าวว่า "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9พระราชทานพระราชดำรัสว่า “...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ...” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยในการเดินตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและทรงตั้งพระราชหฤทัยเป็นกำลังในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันปลูกป่าเพิ่ม เนื่องจากทรงเล็งเห็นประโยชน์ของป่าที่จะสร้างสุขในแก่ประชาชนของพระองค์ ดังนั้น เราทุกคนควรช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน" เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบางพื้นที่ของสวนพฤกษศาสตร์ฯเช่นโรงเพาะชำที่มีการจัดแสดงพรรณไม้ประจำถิ่น ไม้หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ มีโรงเรือนรวบรวมกล้วยไม้ไทย ที่รวบรวมสายพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่หาชมได้ยาก พรรณไม้ประจำถิ่น ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีโรงเรือนรวบรวมกล้วยไม้ไทย ที่รวบรวมสายพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่หาชมได้ยากยิ่ง กว่า 300 ชนิด รวมถึงพันธุ์ไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลกคือ สร้อยสยาม ไม้ตระกูลชงโค หรือเสี้ยวของไทย เป็นพืชถิ่นเดียวหายากเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือจับ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ ใบรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ห้อยลงยาวถึง 75 ซม. กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด กลีบดอก มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับถึงรูปรี สีชมพูอมขาวถึงสีชมพู เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 6 อัน ผลแบบฝัก รูปขอบขนาน เมล็ดรูปไข่ แบน สีน้ำตาลเข้ม พบในป่าเบญจพรรณผสมป่าไผ่ บริเวณภูเมี่ยง จ. พิษณุโลก ออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไปยังมีไม้ประจำถิ่นอีกหลายชนิด อาทิ ค้อ พืชวงศ์ปาล์ม ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเป็นพันธุ์ไม้แห่งวัฒนธรรมของผู้คนบนภูเขาสูง เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน รับแรงต้านของลมได้ดี มีอายุยืนยาวนับร้อยปี นอกจากนี้ยังมี ระฆังทอง พันธุ์ไม้ตระกูลปีบ ที่อวดความงามตลอดทั้งปี กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดคล้ายระฆัง มีสีเหลืองทองตัดกับดอกสีแดงเข้มจัด เป็นพืชหายากพบเฉพาะบนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็น กระจายพันธุ์อยู่ในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ พันธุ์ไม้ป่าทั้งหลายยังคงเจริญงองงามเป็นพลังหนึ่งของความเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ณ ผืนป่าพื้นที่บ้านร่มเกล้า ก็ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล เป็นมรดกของคนไทยประเทศไทยดังที่ประจักษ์ในวันนี้