ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] เรียนรู้สู่การเป็นคนไทยใจสุจริต ตามพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติรองประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารสังคมได้เคยถ่ายทอดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์พระผู้ทรงยึดมั่นในหลักธรรมแห่งพระราชา และทรงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนโดยมิขาดตกบกพร่อง ในการทรงครองแผ่นดิน ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติผ่านพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทุกครั้งที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทจะปรากฎหลักธรรมคำสอนในศาสนาแทรกอยู่เสมอ ดังพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงลาผนวชต่อราษฎร ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2499 ความตอนหนึ่งว่า “...อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามความศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวของข้าพเจ้าก็ดีเห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคำสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรมอันชอบด้วยเหตุผลน่าเลื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงเคยคิดอยู่ว่า ถ้าโอกาสอำนวยก็น่าจะอุปสมบท ในพระศาสนาตามพระราชประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบุรพการีตามคตินิยม อีกโสตหนึ่งด้วย...” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น จึงขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทจากพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่สะท้อนพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจที่ตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรม แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้ พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 ความตอนหนึ่งว่า “...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...” พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า “...หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม...” พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าปลื้มปีติอย่างยิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำสิ่งดีๆเพื่อบ้านเมือง หรือช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่ข้าพเจ้า ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า พ่อและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อมาก็มีท่านอาจารย์แบน ที่อยู่เป็นพระอริยเจ้าอยู่ที่สกลนคร ท่านสอนข้าพเจ้าและทุกๆคนที่ไปกราบว่า ขอให้ทุกคนนึกถึงบุญคุณของประเทศ ของแผ่นดินบ้าง ให้พยายามที่จะตอบแทนพระคุณของแผ่นดินอย่างสุดกำลัง เมื่อมีผู้พร้อมใจกันออกมาช่วยข้าพเจ้าเป็นแสนเป็นล้าน บ้านเมืองของเราก็คงจะเจริญรุ่งเรืองและลูกหลานไทยคงจะมีแผ่นดินที่ร่มเย็นเป็นสุข ไว้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยต่อไปในภายภาคหน้า...” พระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่มีขึ้นหลังพระราชพิธีเฉลิมพระนามาภิไธย ความตอนหนึ่งว่า “…ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่…” พระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานในพิธีเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1437 ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 ความตอนหนึ่งว่า “...การที่ท่านทั้งหลายร่วมกันจัดงานเมาลิดกลางเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่านนบีมุฮัมมัด ผู้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลามและเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของท่านให้ประจักษ์แพร่หลายยิ่งขึ้น นับเป็น กุศลกิจที่ควรแก่การชื่นชมยกย่องอย่างยิ่ง. แท้จริงแล้ว หลักธรรมคำสอนของทุกศาสนาล้วนมีจุดมุ่งหมายสำคัญ ตรงกันอยู่ประการหนึ่ง คือสอนให้ศาสนิกชนทุกคนเป็นคนดี มีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน. หลักธรรมคำสอนทั้งนั้นยิ่งปรากฎแพร่หลายมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่บุคคลและสังคมส่วนรวม มากขึ้นเท่านั้น คือทำให้ทุกคนมีชีวติที่เจริญมั่นคง และมีสังคมที่ทุกเชื้อชาติศาสนาจะอยู่ร่วมกัน ด้วยความผาสุก โดยมีความรัก ความเข้าใจ และการสงเคราะห ์ เกื้อกูลกันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวผูกพัน. ข้าพเจ้าจึงเชื่อมั่นว่า หากทุกคน ทุกศาสนา จะยึดถือปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน ของศาสนาอย่างเคร่งครัดและจริงใจแล้ว ชีวิตของแต่ละคน และชาติบ้านเมือง รวมทั้งโลก ที่เราอาศัยอยู่นี้ จะดำรงมั่นคงด้วยความเจริญร่มเย็นเป็นผาสุกอย่างแน่นอน...” พระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประจำปี การศึกษา 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวัน ที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ความตอนหนึ่งว่า “...ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ปฏิบัตินอกจากจะต้องอาศัยกำลังแห่งวิชาความรู้แล้ว ยังต้องอาศัยกำลังในกายในใจประกอบพร้อมกันหลายอย่าง ที่สำคัญ ได้แก่ ความศรัทธาเชื่อมั่นในงาน ในตนเอง และในผู้ที่ทำงานร่วมกัน. กล่าวคือ บุคคลจะต้องเชื่อมั่นว่า งานที่ทำมีประโยชน์และมีคุณค่า เชื่อมั่นว่า ตนเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำงานนี้ได้สำเร็จ รวมทั้งเชื่อมั่นว่า ผู้ร่วมงานต่างมีความรู้ ความสามารถ และมีความตั้งใจที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน . ความศรัทธาเชื่อมั่นดังนี้มีผลอย่างยิ่ง ต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงาน เพราะบุคคลไม่ว่า จะทำงานใด กับผู้ใด หากขาดความเชื่อมั่นในงาน ในตนเอง และในผู้ร่วมงานแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะมีกำลังกายกำลังใจปฏิบัติงาน จนสำเร็จลุล่วงได.้ บัณฑิตเมื่อออกไปประกอบอาชีพการงาน จึงควรปลูกฝังสร้างเสริมความศรัทธา เชื่อมั่นดังที่กล่าวให้มั่นคงแน่นแฟ้น จะได้สามารถทำงานทุกอย่างให้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์ความเจริญ ก้าวหน้าในงานได้อย่างสมบูรณ์ ตามที่มุ่งประสงค์...” พระราชดำรัสในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานแก่หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรราบรมราชนนี จังหวัดน่าน ณ โรงเรียนบ้านหนองนก อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 ความตอนหนึ่งว่า “...หน้าที่แรกของคนไทยคือต้องจงรักภักดีต่อชาติ จงรักภักดีต่อแผ่นดินเกิด ที่ว่าจงรักภักดีนั้นทำอย่างไร ไม่มีอะไรยาก ทุกคน ทุกอาชีพ จงรักภักดีต่อแผ่นดินได้...โดยประการแรก... ประพฤติตัวเป็นพลเมืองดีของประเทศไทย ประการที่สอง... ประกอบสัมมาอาชีพด้วยความตั้งอกตั้งใจและสุจริต สุจริตคือซื่อสัตย์ ไม่ฉ้อ ไม่โกง ไม่รับสินบนเพื่อมาทำลายชาติของตนเอง... นี่คือหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์...” สาสน์พระราชดำรัสทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระราชทาน แก่จังหวัดจันทบุรี ในพิธีประทานทุนมูลนิธิคุณพุ่ม ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี แก่เด็กออทิสติก และเด็กพิการในจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ความตอนหนึ่งว่า “...การพัฒนาบุตรหลานของท่าน ควรพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทุนการศึกษาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระท่านระดับหนึ่ง เด็กพิการจะมีศักยภาพ และสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ข้าพเจ้าขอให้กำลังใจทุกท่านมีความอดทน มุ่งมั่นในการพัฒนาบุตรหลาน เพื่อให้มีศักยภาพและอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข...” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ ขอเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมแสดงกตเวทิตาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยมาช้านาน โดยเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทจากการศึกษาและเรียนรู้พระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและพระราชจริยาวัตรในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่10 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศานุวงศ์ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญต่อการพัฒนาตนให้เป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปตราบนานเท่านาน