ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง เมืองเชียงใหม่ อีกก้าวสู่มรดกโลก หลังจากชื่อเมืองเชียงใหม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative Lists) ยูเนสโก เมื่อสองปีที่แล้ว คณะทำงานจังหวัดเชียงใหม่ยังคงเดินหน้าแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเมืองเชียงใหม่ไปสู่การเป็นมรดกโลก ล่าสุด (24ก.พ.60) สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากรได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ให้ วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม รับทราบจากการลงพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ วัดป่าเป้า และวัดสวนดอก จากข้อมูลรายงานความก้าวหน้าการเสนอเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ดำเนินการโดยจังหวัดเชียงใหม่ , อบจ. เชียงใหม่ , เทศบาลนครเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปแผนการดำเนินการแบ่งเป็น ระยะที่ 1 และ 2 ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2559) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ และ OUV (คุณค่าโดดเด่นเป็นสากล) นำเสนอพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตมรดกโลก (Property and Buffer Zone) จัดทำเอกสาร บทที่ 1 – 3 สร้างกระบวนการรับรู้ และมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประสานกับ ICOMOS เพื่อขอรับการสนับสนุน กระบวนการ Upstream Process ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ. 2560) จัดเวทีวิชาการระดับนานาชาติ(จัดเสร็จเรียบร้อยแล้วเดือนม.ค.) กำลังดำเนินการ จัดทำแผนการจัดการอย่างมีส่วนร่วม จัดทำข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม ระยะที่ 2 และขั้นตอนสุดท้าย จัดทำเอกสาร บทที่ 4 – 6 นอมิเนชั่น ดอซิเยร์ (Nomination Dossier) ให้สมบูรณ์ กระบวนการนำเสนอ ถูกศึกษาผ่านองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ โครงสร้างการออกแบบผังเมือง , อาคาร สถาปัตยกรรม , วัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณี นำเสนอแบบกระจายจุด (Serial Nomination) ประกอบด้วย เมืองเชียงใหม่ วัดสวนดอก พระธาตุดอยสุเทพ การจัดกลุ่มอาคารทางสถาปัตยกรรม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก คือ 1. กำแพงเมือง (กำแพง, คูเมือง, ประตู และป้อมมุมเมือง) 2. วัดในสมัยราชวงศ์มังราย (วัดพระธาตุดอยสุเทพ, วัดพระสิงห์, วัดเจดีย์หลวง) 3. วัดสมัยฟื้นฟูการปกครอง (วัดพันเตา, วัดปราสาท, วัดดวงดี, วัดทรายมูล, วัดป่าเป้า) 4. งานสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่าความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่อง (วัดสวนดอก, วัดเจ็ดยอด) 5. งานสถาปัตยกรรม สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง (คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ทั้ง 2 หลัง, ตึกโรงเรียนยุพราช โรงช้างต้น, ศาลแขวง, หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) คุณค่าด้านวัฒนธรรม จัดแบ่งได้ คือ 1. สะท้อนคุณค่าระดับเครือญาติ (บ้านต้นตระกูล, หอผีปู่ย่า, กู่บรรพบุรุษ) 2. แหล่งมรดกที่สะท้อนคุณค่าชุมชน (วัด, ตลาด, ศาลเจ้าพ่อ, ต้นไม้ใหญ่ภายในวัด) 3. แหล่งสะท้อนคุณค่าระดับเมือง (หออินทขิล, ไม้เมือง, อนุสาวรีย์, พื้นที่หรือเส้นทางพิธีกรรมและความเชื่อ, หอพญาเม็งราย) นั่นเป็นข้อมูลสรุปความก้าวหน้าการเสนอเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า คณะทำงานได้ดำเนินแผนการระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ขั้นตอนที่ 2 โดยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามที่ยูเนสโกกำหนด จัดทำข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อในจำนวน 6 ข้อ แสดงคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากลของมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการมรดกโลกประเภทเดียวกับเมืองเชียงใหม่มาสัมมนาและให้ข้อคิดเห็น รวมทั้งการจัดทำแผนบริหารจัดการของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งดำเนินการไปได้ด้วยดี จากนี้ขั้นตอนสุดท้ายจัดทำเอกสารนอมิเนชั่น ดอซิเยร์ (Nomination Dossier) ให้สมบูรณ์ “คณะทำงานตั้งเป้าหมายทำเอกสารนอมิเนชั่น ดอซิเยร์ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ปี 2560 และหากเป็นไปได้น่าจะเสนอเมืองเชียงใหม่ให้ยูเนสโกพิจารณาทันภายในวันที่ 31 มกราคม ปี 2561 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่” วีระ กล่าว สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า คณะทำงานเชียงใหม่ได้กำหนดพื้นที่แหล่งนำเสนอแบบกระจายจุด 3 จุดหลัก จุดแรก กำหนดให้กำแพงเมืองเชียงใหม่สี่เหลี่ยมเป็นใจกลาง หรือคอร์โซน (Core Zone) กำแพงเมืองชั้นนอกเป็นเขตกันชน หรือบัฟเฟอร์โซน (Buffer Zone) จุดที่ 2 วัดสวนดอก และเวียงสวนดอก เป็นใจกลาง กำแพงเวียงสวนดอกเป็นบัฟเฟอร์โซน และจุดที่ 3 พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุฯเป็นคอร์โซน และบริเวณที่อยู่รอบๆ เป็นป่านั้นเป็นบัฟเฟอร์โซน “ขั้นตอนที่ 2 นี้ คณะทำงานเดินไปตามแผนดำเนินการที่กำหนดไว้ทุกอย่าง” สายกลาง กล่าวทิ้งท้ายรายงานความก้าวหน้าล่าสุดเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นมรดกโลก ถึงตอนนั้นจะขึ้นบัญชีมรดกโลกอย่างที่คณะทำงานเมืองเชียงใหม่ตั้งใจได้หรือไม่ ชาวเชียงใหม่ต้องติดตาม ภาพ1 วัดพระสิงห์ ภาพ2 วัดสวนดอก ภาพ4 วัดป่าเป้า