รฦก / วัฒนรักษ์ [email protected] “แบบพระเมรุมาศ และเรื่องพระโกศ-พระลอง” การสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุเป็นงานสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่แสดงภูมิปัญญาช่างอย่างสูง แต่โบราณจึงมีคำยกย่องมาว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้สร้างสรรค์ออกแบบและก่อสร้างพระเมรุมาศถือว่าผู้นั้นเป็นผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ทำพระเมรุมาศต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร เพราะแต่ละสิ่งที่สร้างสรรค์ล้วนเป็นเกิดจากการกลั่นกรองออกมาจากความสามารถของช่างทั้งสิ้น ซึ่งความคิดนั้นจะต้องมีปรัชญาและหลักเกณฑ์ในการคิดเสมอ ผู้ออกแบบต้องคำนึงตลอดเวลาว่าพระเมรุมาศที่สร้างนั้นเป็นของพระองค์ใด แล้วจะต้องถ่ายทอดพระลักษณะและฐานะของเจ้านายพระองค์นั้นออกมาให้ปรากฏ เช่น ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี นักรบ รวมทั้งการให้ลวดลายสีสันพระเมรุมาศก็จะต้องสอดคล้องกับสีที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นสำคัญ อีกทั้งช่างต้องสามารถบอกถึงความเป็นมาของลวดลายและส่วนก่อสร้างที่ตนคิดประดิษฐ์ไว้ในทุกตำแหน่งงานได้อย่างมีหลักเกณฑ์ตามวิชาการของช่างด้วย การตกต่างพระเมรุมาศและพระเมรุให้วิจิตรงดงามเป็นแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม ได้มีการตกแต่ง 2 อย่าง คือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี โดยที่การตกแต่งเป็นพระเมรุทอง มักจะใช้กับพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ ส่วน การตกแต่งเมรุสีหรือเมรุลงยาราชาวดี เป็นการเพิ่มสีสันให้พระเมรุนั้นงดงาม ซึ่งการเลือกสีนั้นขึ้นอยู่กับช่างจะศึกษาสีที่นำมาใช้ให้มีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่น เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น มีเรื่องที่จะขอแทรกไว้ตอนท้ายในการคุยกันวันนี้อีกสักเรื่อง แม้จะเคยหยิบยกมาคุยกันไปบ้างแล้ว นั่นก็คือความสับสนของพระโกศกับพระลอง ว่าไปแล้วคำว่า “โกศ” มีหลายความหมาย หากหมายถึงที่ใส่กระดูกผีทั่วๆ ไป ก็จะมีขนาดต่างๆ แต่ไม่ถึงกับใหญ่มากนัก มักทำเป็นทรงยอดมีฝาครอบ ซึ่งเราเห็นได้ตามร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ทั่วไป แต่หากหมายถึงที่ใส่ศพแบบนั่ง ขนาดก็จะใหญ่พอให้ใส่ศพได้ มักทำเป็นรูปกลมทรงกระบอก ฝาครอบมียอด โกศที่หมายถึงภาชนะใช้ใส่ศพนั่งที่ว่านี้ มีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งชื่อที่ใช้เรียกมักสับสนกันในแต่ละยุค ปัจจุบันชั้นนอกจะเรียกว่า ลอง ส่วนชั้นในจะเรียกว่า โกศ พระโกศ มีอยู่ 2 ชนิด พระโกศชนิดแรกเป็นรูปกลมทรงกระบอก ปากผาย ฝาครอบเป็นลูกแก้ว 5 ชั้น มียอด ทำด้วยเงินลงรักปิดทอง พระโกศลักษณะนี้มีอยู่องค์เดียว สร้างขึ้นสำหรับทรงพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ส่วนพระโกศนอกจากนี้ทำด้วยเหล็กหรือทองแดงลงรักปิดทอง ฝาครอบ 5 ชั้น มียอด สำหรับทรงพระศพพระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ฝาครอบ 3 ชั้นมียอดสำหรับพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าลงไปจนถึงข้าราชการ อีกชนิดหนึ่งนั้น ทำด้วยเหล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฝาครอบ 3 ชั้นมียอด หุ้มผ้าขาวสำหรับพระราชวงศ์ และลงรักปิดทองสำหรับข้าราชการ พระโกศที่ประดิษฐานพระบรมศพหรือพระศพ ตลอดจนโกศที่บรรจุศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ หรือบรรดาผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายขึ้นไปนั้น เท่าที่เห็น ณ ที่ประดิษฐานหรือที่ตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่นั้น มี 2 ชั้น คือชั้นนอกและชั้นใน ชั้นใน เป็นโลหะทรงกระบอกผิวเกลี้ยงปากผายเอวคอดเล็กน้อย ฝามียอดแต่ไม่สูงนัก ทาสีทองหรือปิดทองตลอด ชั้นนอก สำหรับประกอบหุ้มชั้นในไว้ให้มิดชิด ทรงกระบอกปากผาย เอวคอด ยกเหลี่ยมเป็นรูปร่างและลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม โดยรูปลักษณ์ทั่วไปแล้ว ชั้นนอกนั้นงามวิจิตรกว่าชั้นในมากนัก แต่การเรียกชื่อชั้นนอกกับชั้นในของโกศนั้น บางสมัยก็เรียกชั้นนอกว่าพระโกศ ชั้นในว่าพระลอง บางสมัยก็เรียกชั้นนอกว่าพระลอง ชั้นในว่าพระโกศ ทำให้สับสนอยู่ไม่น้อย ที่มาทราบกันโดยแจ่มชัดว่าสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกองค์ที่อยู่ชั้นใน ซึ่งเป็นโลหะผิวเกลี้ยงที่ทรงพระบรมศพว่า “พระโกศ” และเรียกองค์ที่ประกอบชั้นนอกที่แลดูงดงามนั้นว่า “พระลอง” แต่เป็นที่น่าแปลกว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ บ่งบอกว่ามีการเรียกตรงข้ามกัน คือ เรียกชั้นในที่ทรงพระบรมศพ พระศพ ว่า “พระลอง” เรียกที่ประกอบชั้นนอกที่แกะสลักบุทอง หรือลงรักปิดทั้งอย่างทองแกมแก้วทองล้วนว่า “พระโกศ” ต่อมาเมื่อพระยาเทวาธิราชได้เป็นสมุหพระราชพิธี ท่านจึงหวนกลับไปเรียกตามจดหมายเหตุโบราณอีกครั้ง คือ เรียกองค์ที่อยู่ชั้นในว่า “พระโกศ” และเรียกองค์ที่ประกอบชั้นนอกว่า “พระลอง” และปัจจุบันยังคงยึดตามความเห็นของพระยาเทวาธิราชนั้น ภาพประกอบ : ภาพ 3 มิติ พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แบบโดย สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร