คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คิดค้น "เสื้อไม่อาย" นวัตกรรมช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างของหญิงไทย ในขณะเข้ารับการตรวจรังสีเต้านม (Mammogram) ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. กล่าวว่าสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม รายใหม่มีมากราว 8,000 คนต่อปี และช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันกลับพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 18 ปี ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว และคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่ออันเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งในกรณีที่พบความผิดปกติควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อความแม่นย้ำมากขึ้น "ผู้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมนี้ จำเป็นต้องถอดเสื้อพร้อมเปิดเผยร่างกายส่วนบน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดตำแหน่งเต้านมให้เหมาะสมกับการฉายรังสี โดยตรวจทีละข้างใช้เวลารวมประมาณ 30-60 นาที ซึ่งการเปลือยร่างกายส่วนบนเป็นเวลานานต่อหน้าบุคคลที่ไม่รู้จักนั้น อาจทำให้สตรีที่เข้ารับการตรวจรู้สึกอาย ทางคณะพยาบาล จึงพัฒนานวัตกรรม "เสื้อไม่อาย" เพื่อช่วยเสริมความไม่มั่นใจ โดย "เสื้อไม่อาย" นี้ถูกตัดเย็บให้มีช่องสี่เหลี่ยมขนาด 15x15 เซนติเมตร จำนวน 2 ช่อง ครอบบริเวณเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจ โดยในแต่ละช่องจะมีผ้าคลุมเย็บกระดุมติดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถปลดกระดุม ให้เจ้าหน้าที่รังสีจัดตำแหน่งเต้านมทีละข้างได้ โดยไม่ต้องเปิดเผยร่างกายส่วนบนทั้งหมด" ผศ.จิณพิชญ์ชา กล่าวต่อไปว่า เนื้อผ้าที่ใช้เย็บเสื้อไม่อายได้รับการดัดแปลงมาจากเสื้อยืดแบบผ้าคอตตอน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ในขณะเข้าเอ็กซ์เรย์รังสี อีกทั้งยังมีหลากหลายขนาดเพื่อรองรับการสรีระของผู้เข้ารับการตรวจที่แตกต่างกัน สำหรับสถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน สามารถสอบถามนวัตกรรม "เสื้อไม่อาย" ได้ที่โทร.0-2986-9213 ต่อ 7316-8 หรือคลิกที่ www.pr.tu.ac.th