พม.-หอการค้า-สสส.-นำทัพเดินหน้า 5 ประเด็น Quick Win นโยบายประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ขณะที่กระทรวงคลังไฟเขียวออก “พันธบัตรเพื่อการลงทุนทางสังคม” ดึงเอกชนร่วมลงขันพัฒนาประเทศ พร้อมวางเป้าเคลื่อนงาน “จ้างงานผู้พิการ-ผู้สูงอายุ-การออม-ที่อยู่อาศัย-ปลอดภัยทางถนน” วันที่ 6 มี.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม(E6) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย หัวหน้าทีมภาคเอกชน และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. หัวหน้าทีมภาคประชาสังคม พร้อมด้วยคณะทำงานย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 50 คน เข้าร่วมการประชุมเพื่อติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ภาครัฐมีงบประมาณ และบุคลากรจำกัด อนาคตที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ รัฐจะเก็บภาษีได้น้อยลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลประชาชนมากขึ้น ดังนั้นต้องอาศัยภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามนโยบายประชารัฐ โดยคณะทำงานฯ เป็นกลไกเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีคณะทำงานย่อยในแต่ละด้านร่วมกำหนดเป้าหมาย และวางแนวทางดำเนินงานร่วมกัน ได้แก่ 1.คณะทำงานย่อยด้านการส่งเสริมการมีรายได้และการมีงานทำของคนพิการ นำโดยหอการค้าไทย และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีเป้าหมายจ้างงานคนพิการเพิ่ม 16,000 อัตราในปี 2561 และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรของคนพิการ และวิสาหกิจเพื่อสังคมของคนพิการ 2.คณะทำงานการส่งเสริมการมีรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุ นำโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ตั้งเป้าจ้างงานผู้สูงอายุทั้งในและนอกระบบ รวม 39,000 อัตรา ในปี 2560 3.ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุ นำโดยตลาดหลักทรัพย์ มีการรณรงค์ด้านวินัยทางการเงินการออม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แรงงานในระบบ, แรงงานนอกระบบ, ข้าราชการ และผู้สูงอายุ 4.ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย นำโดย SCG ได้รวบรวมแบบบ้านผู้สูงอายุทั้งจากภาครัฐ และเอกชนและการเสริมสร้างทักษะการออกแบบ ก่อสร้างของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้มีความรู้ด้าน Universal design และ 5.ด้านความปลอดภัยทางถนน นำโดย ปตท. เสนอแผนการรณรงค์ เช่น กิจกรรมถนนคนดี การรณรงค์ในช่วงเทศกาลสำคัญ และตลอดจนการให้ความรู้การขับขี่ปลอดภัย “รัฐบาลพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามนโยบายประชารัฐอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง เช่น ประเด็นการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ เพิ่มการจ้างงานคนพิการตาม ม. 33 และ 35 ประมาณ 7,000 อัตราในปี 2560 และ 16,000 อัตรา ในปี 2561 นั้น พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ขยายเวลาการแจ้งใช้สิทธิตาม ม.35 จากวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็น 31 มีนาคม 2560 เป็นกรณีพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สถานประกอบการได้ทำตามเจตนารมณ์และเป้าหมายที่ตั้งไว้” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การทำงานของคณะ E6 เป็นความร่วมมือแก้ปัญหาที่มีผลกระทบทางสังคม โดยเน้นงานที่มีทุนเดิมและฐานการทำงานที่ต่อยอดได้เพื่อความยั่งยืน โดย สสส. ทำหน้าที่ประสานการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่ส่วนใหญ่เป็นภาคีฯ ขับเคลื่อนประเด็นสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับ สสส. ในการสร้างให้เกิดต้นแบบในประเด็น/พื้นที่ เพื่อนำไปสู่การขยายผลต่อ เช่น การจ้างงานผู้พิการ นอกจากนั้นกลไกการทำงานของ สสส. ที่มีความยืดหยุ่น จึงทำให้สามารถหนุนเสริมการทำงานแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะใน 5 ประเด็น “Quick Win” ได้เสนอวิธีการดำเนินงานเพื่อเพิ่มทางเลือกระบบการคลังเพื่อสังคมในรูปแบบ Social Investment Bonds(SIBs) หรือพันธบัตรเพื่อการลงทุนทางสังคม โดยนำเงินที่ระดมทุนจากภาคเอกชนมาใช้ในการดำเนินโครงการด้านสังคมโดยภาคเอกชน และภาครัฐจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนตามเงื่อนไขผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ซึ่งปัจจุบัน SIBs มีการดำเนินการแล้วใน 15 ประเทศทั่วโลก ในโครงการด้านต่างๆ กว่า 60 โครงการ อาทิ ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่อยู่อาศัย สวัสดิการเด็กและครอบครัว การสาธารณสุข การศึกษา “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้มอบให้กระทรวงการคลังศึกษารายละเอียดเบื้องต้น ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และให้คณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) ไปศึกษารายละเอียดในการดำเนินงานเพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรม โดยหลักการของ SIB คือ รัฐบาลเป็นผู้กำหนดโจทย์ทางสังคม เช่น จ้างงานผู้พิการ-ผู้สูงอายุ, พัฒนาที่อยู่และสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย และจะออกพันธบัตรระดมทุนโดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อนำเงินมาใช้ในกิจการเพื่อสังคม เมื่อเกิดผลสำเร็จตามระยะเวลา ผู้ที่ลงทุนซื้อพันธบัตรก็จะได้เงินต้นคืนพร้อมโบนัสตามความสำเร็จ ซึ่งระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เอกชนเกิดความรู้สึกร่วมในการพัฒนาและแก้ปัญหาด้านสังคม” ดร.สุปรีดา กล่าว นายอิสระ กล่าวว่า ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนงานอยู่ในคณะทำงานย่อยทั้ง 5 คณะ เน้นเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน แทนการช่วยเหลือเชิงสังคมสงเคราะห์ ซึ่งไม่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว การขับเคลื่อนงานมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการส่งเสริมการมีรายได้และมีงานทำของคนพิการ โดยเปลี่ยนจากการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตาม ม.34 เป็นจ้างงานคนพิการ ตาม ม.33 และส่งเสริมอาชีพ ตาม ม.35 ซึ่งในระยะแรกนี้ ช่วงเดือนธันวาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มบริษัทในคณะทำงานฯ จ้างคนพิการไปแล้วถึง 7,576 อัตรา สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ถึง 7,155 อัตรา และจะยังคงขยายผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่องร่วมกับบริษัทเครือข่ายนอกกลุ่มประชารัฐ จ้างงานคนพิการให้บรรลุเป้าหมาย 16,000 อัตรา ในปี 2561 ตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้ นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของคนพิการ โดยสร้างโอกาสทางการตลาด การพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้ ซึ่งจะมีการนำร่องการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมของคนพิการใน 6 โครงการ ได้แก่ (1) วิสาหกิจบริการ Call Center โดยคนพิการ (2) วิสาหกิจวีลแชร์และอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ (3) วิสาหกิจสินค้างานพิมพ์ โดยบุคคลออทิสติก (4.) วิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้าเกษตรของคนพิการ (5) วิสาหกิจผลิต เบเกอรี่และ เครื่องดื่ม โดยคนพิการ (6.) วิสาหกิจร้านกาแฟที่บริหารจัดการด้วยคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อที่เป้าประสงค์ ในการช่วยให้คนพิการมีรายได้และมีงานทำอย่างยั่งยืน