เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม ผู้นำเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association – IORA) ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีนายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำหรือผู้แทนระดับสูง จากประเทศสมาชิก IORA ทั้ง 21ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 7 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม การประชุมผู้นำครั้งนี้เป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของกรอบ IORA เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง IORA โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ “การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของมหาสมุทรอินเดีย” โดยผู้นำประเทศสมาชิกได้ (1) ร่วมลงนามปฏิญญาจาการ์ตา (Jakarta Concord) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยทางทะเล และ (2) รับทราบผลการรับรองแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017 – 2021 (IORA Action Plan) เพื่อวางแนวทางและทิศทางการดำเนินความร่วมมือของ IORA ในกรอบระยะเวลา 5 ปี และปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิรุนแรงสุดโต่ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก ในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบซึ่งส่งผลกระทบ ต่อการพัฒนา เศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสภารัฐมนตรี IORA รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง นำเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ IORA ควรจะให้ความสำคัญและผลักดัน คือ (1) ความยั่งยืน โดยชี้ให้ประเทศสมาชิกเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของภูมิภาค IORA อย่างยั่งยืนจากการบริหารจัดการทรัพยากรและความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ และใช้องค์ความรู้จากประเทศสมาชิกทั้ง ๒21 ประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ ซึ่งไทยมีบทบาทในการเพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหา IUU มาโดยตลอด (2) ความเชื่อมโยง โดยแสดงบทบาท และศักยภาพของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และไทยในฐานะที่ตั่งอยู่ใจกลาง CLMV ซึ่งเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน จะสามารถเป็นประตูสู่ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของโลกและเป็นโอกาสเข้าถึงตลาด การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวการบริการ และความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ ของเอเชีย ในการนี้ ไทยเสนอให้มีการจัดทำร่างแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยง (IORA Connectivity Master Plan) เพื่อเชื่อมโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดแผนความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกัน และ (3) สันติภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความปลอดภัยในภูมิภาค นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ไทยได้เสนอให้ IORA พิจารณาเพื่มประเด็นเรื่องการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระดับเยาวชน (Youth Partnership) เป็นประเด็นคาบเกี่ยวด้วย IORA เป็นเวทีความร่วมมือที่เน้นส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมสมาชิกทั้งหมด 21ประเทศ โดยมี ๖ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล (2) การประมง (3) การอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน (4) การจัดการภัยพิบัติ (5) ความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และ (6) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และมีประเด็นการส่งเสริมพลังสตรีและเศรษฐกิจภาคทะเลเป็นประเด็นคาบเกี่ยว (cross-cutting issues)