วารินทร์ พรหมคุณ "สายสัมพันธ์ไทย-ลาว" เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและกลมเกลียวของประชาชนทั้งสองประเทศ เป็นความผูกพันภายใต้วัฒนธรรม ประเพณี วิถีการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน และมีความรักมั่นต่อกันและกันตลอดมา ซึ่งเมื่อปลายเดือน ก.พ.2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปเยือนนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือองค์การซีมีโอ ที่ก่อตั้งมานานถึง 52 ปี โดยการเยือน สปป.ลาว ของ นพ.ธีระเกียรติ ในฐานะประธานสภาซีเมค ครั้งนี้ นอกจากจะเชิญชวน สปป.ลาว ส่งครูมาอบรมการพัฒนาความรู้และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนด้านภาษาอังกฤษ ใน Boot Camp ประเทศไทยแล้ว ยังเชิญชวนให้ทาง สปป.ลาว เข้าร่วมโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) อีกด้วย เพราะต้องการให้ "สปป.ลาว" ซ่ึงเป็นหน่ึงในประเทศสมาชิกได้พัฒนาการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ภารกิจขององค์การซีมีโอ คือความร่วมมือทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ระหว่างประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และติมอร์ เลสเต ซึ่งมีศูนย์ระดับภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จำนวน 21 ศูนย์ในประเทศสมาชิก และจะตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาในชุมชนใน สปป.ลาว ในเร็วๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือ (MOU) กันนับพันความร่วมมือ แต่เป็นความร่วมมือกันบนกระดาษไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนั้น ก่อนที่ตนจะหมดวาระประธานสภาซีเมค ในเดือน ก.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปเยือนประเทศสมาชิกให้ครบ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม "ใน 11 ประเทศสมาชิก จะมีประเทศที่มีการศึกษาที่ดีที่สุด คือสิงคโปร์ และประเทศที่เป็นดาวเด่นมีการวางแผนเป็นอย่างดี คือบรูไนดารุสลาม มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ รวมถึงอินโดนีเซีย ก็มีการขับเคลื่อนการศึกษาไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ในภาพรวมที่นอกจากจัดตั้งศูนย์ในภูมิภาคต่าง ๆ แล้ว จะต้องหารือในการจัดทิศทางในเรื่องของการพัฒนาการศึกษาทั้งอาเซียน ซึ่งเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะต้องเดินไปพร้อมกัน ๆ กัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ตนได้เสนอความช่วยเหลือให้กับ สปป.ลาว และที่สำคัญ คือมาตรฐานของครูอาเซียน ซึ่งไทยรับเป็นเจ้าภาพอยู่ขณะนี้ โดยดึงสิงคโปร์เข้ามาร่วม เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยจะมีการผลักดันหลักสูตรการผลิตครู ซึ่งขณะนี้บรูไนดารุสลาม เดินหน้าไปไกลมากแล้ว" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว ทั้งนี้ ประธานสภาซีเมค กล่าวถึงการจัดการศึกษาในอาเซียน ยังมีความเหลือมล้ำกันมาก ดูได้จากงบประมาณที่แต่ละประเทศทุ่มกับการศึกษา เช่น สปป.ลาว ใช้งบฯ ด้านการศึกษา 17% ของงบประมาณประเทศ กัมพูชา 18% ไทย 20% ซึ่งงบฯ ของกัมพูชา ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ จำนวนประชากร 18 ล้านคน มีครู 100,000 กว่าคน มีโรงเรียน 100,000 กว่าแห่ง สปป.ลาว มีประชากร 6 ล้านคน มีครู นักการ ครูอาสา 50,000 คน โรงเรียน 8,000 แห่ง ใช้งบฯ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากัมพูชา ส่วนไทย ใช้งบฯ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งมากกว่ากัมพูชา 30 เท่า มากกว่าลาว 10 เท่า ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำมาก ก็ต้องดูเรื่องนี้ด้วยว่าการตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคต่าง ๆ จะลดความเหลือมล้ำได้หรือไม่..ลงทุนไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า องค์การซีมีโอ ต้องวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วย "ผมทึ่งเวียดนามมาก การสอบ PISA ปีนี้ เด็ก 10% ที่ฐานะยากจนที่สุดของเวียดนาม สามารถทำคะแนนชนะเด็กที่รวยที่สุดของประเทศ OECE ได้ 20 ประเทศ และกว่า 70% ที่อยู่ระดับล่างของเวียดนาม ยังติดท็อปถึง 25% ของโลก ซึ่งเราต้องเรียนรู้ว่าเขาทำอย่างไร และต้องเรียนรู้ครูของ สปป.ลาวด้วยว่า ทำไมไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ครู สปป.ลาว ยังปลูกข้าวกินเอง..เงินเดือนเริ่มต้นของเขาน้อยกว่าครูไทย 3 เท่า เพราะอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งเหล่านี้ไทยน่าจะเรียนรู้" รมว.ศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย