ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา “ป่าสักนวมินทรราชินี” ผืนใหญ่ คงอยู่ได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เสกสรร สิทธาคม [email protected] ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระปรินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ที่ทำให้วันนี้ประเทศไทยยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทรัพยากรป่าไม้ ที่ยังคงอยู่ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวผ่านโครงการตามพระราชดำริ ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งใครจะรู้ว่า ถ้าทั้งสองพระองค์ไม่ได้พระราชดำริ เรื่องการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ทรัพยากรต่างๆไว้วันนี้ทรัพยากรของประเทศจะหมดหายไปเท่าใดแล้ว โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ประเทศไทยจึงยังคงมีผืนป่าสักที่ใหญ่ที่สุด ประชาชนพื้นที่รอบๆผืนป่าดังกล่าวมีคุณการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากพระเมตตาที่ทรงให้ดูแล ประชาชนมีความสุขตามวิถีแห่งความพอเพียงพออยู่พอกิน และได้กำลังในการมีส่วนร่วมรักษาผืนป่าสักดังกล่าวด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผืนป่าสักเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ โดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 มีพระราชเสาวนีย์ให้อนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ทรงพระกรุณา พระราชทานชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” ความเป็นมาของผืนป่าสักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเริ่มต้นจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจพบป่าเบญจพรรณที่มีไม้สักธรรมชาติ ขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาและป่าสงวนป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนล่าง ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูงตั้งแต่ 300-1,300  เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีหินปูน ปะปนอยู่ และพบหลุมหินปูน กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไม้สักธรรมชาติที่พบขึ้นอยู่ตลอดแนวสองฝั่งของลำน้ำของและฝั่งขวาของลำน้ำปาย ไม้สักมีลักษณะดี ขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง สภาพป่ามีความสมบูรณ์ บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่สำรวจพบป่าไม้สักที่สมบูรณ์นั้น เป็นที่ตั้งของชุมชน 4 หมู่บ้าน (7 หย่อมบ้าน) มีประชากรประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าลีซอและกะเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฐานะยากจน พบปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ปัญหาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการทำเกษตรกรรม ปัญหายาเสพติด และปัญหาคนต่างด้าว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีการเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคตอีกด้วย ในพื้นที่สำรวจพบว่ามีป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีลักษณะพิเศษในพื้นที่นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งพันธุกรรมไม้สักขนาดใหญ่ในธรรมชาติและเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากของประเทศ  ประกอบกับพบว่า พื้นที่โดยรอบที่มีชุมชนอาศัยอยู่มีปัญหาดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบุกรุกและลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรมีมาตรการในการดูแล พื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะอย่างเข้มงวด เพื่อการสงวนรักษาพื้นที่ไม้สักธรรมชาตินี้ไว้เป็นแหล่งศึกษา ทดลอง วิจัย และการขยายพันธุ์ในอนาคต รวมถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศสำคัญที่หายากและมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างจิตสำนึกของชุมชน ที่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม ดำรงชีพอย่างถูกวิธีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อันนำพาไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในการดำรงชีวิตที่มีอาชีพ มีรายได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมนำความสมบูรณ์ของผืนป่าสักธรรมชาติกลับคืนมา ที่จะเอื้อประโยชน์นานัปการต่อไปในอนาคต เป็นไปตามแนวพระราชดำริ “ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล” ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.ในรัชกาลที่ 9 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯทรงรับพื้นที่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และขอพระราชทานชื่อป่าไม้สักที่สมบูรณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9แล้ว ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และต่อมา สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ แจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” (ป่า-สัก-นะ-วะ-มิน-ทะ-ระ-รา-ชิ-นี) นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระราชทานแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพสกนิกรชาวไทย เมื่อไม่นานมานี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เคยพาสื่อมวลชนเดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรฯเมื่อไม่นานมานี้ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเป็นพระมหากรุณาคุณและสร้างความปีติยินดีให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระบรมราชูปถัมส์ และได้พระราชทานนามผืนป่าสักแห่งนี้ นำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่คนไทยทั้งประเทศซึ่งทุกปีจะได้มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่ข้าราชการที่ปฎิบัติงานและจะพูดเสมอว่า หาไม่ได้แล้วผืนป่าสักที่งดงามอย่างนี้ ซึ่งกรมป่าไม้ และอุทยานแห่งชาติดูแลอยู่ เพราะป่าแห่งนี้เป็นทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองกรมจัดการดูแลรักษาอย่างดียิ่ง เป็นความร่วมมือที่ดีมาก นายชิดชนก สุขมงคล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกให้ฟังว่า การดำเนินงานของกรมอุทยานฯที่ผ่านมาได้สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยส่งเสริมอาชีพราษฎรในพื้นที่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เน้นส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกไม่บุกรุกทำลายป่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนรวมในการดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความหวงแหนป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ให้ตัดไม้สักไปขายและป้องกันดูแลรักษาป่า อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเพื่อดูแลรักษาพื้นที่ป่าสักนวมินทร์ฯอีกทางหนึ่ง มีผู้ดูแลรับผิดชอบอยู่ 4 หน่วยปฏิบัติการที่ดูแลพื้นที่ทั้งหมด “พื้นที่ทั้งหมดมีราษฎรอยู่ประมาณ 2000 ครัวเรือน เป็นชาวเขาเผ่าลีซอ ชาวกระเหรี่ยง และชนพื้นเมืองเล็กน้อย จากเดิมที่รายได้ต่อครัวเรือนนั้นต่ำ กรมอุทยานฯเข้าไปส่งเสริมอาชีพและแนะนำอาชีพ ทั้งการทำนาขั้นบันได การเลี้ยงหมูหลุม การทอผ้าต่างๆ การปลูกพืชผักทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรนั้นดีขึ้นอาจไม่มาก แต่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อนคุณภาพชีวิตดีกว่าเดิม” นายชิดชนก ย้ำด้วยว่าการดำรงชีวิตของสรรพสัตว์ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่เป็นปัจจัยหลัก ทางกรมทรัพยากรสัตว์ป่าฯได้สนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 สำรวจแหล่งน้ำมาตั้งแต่ต้นและทำการพัฒนาแหล่งน้ำมาอย่างต่อเนื่อง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 497 ตารางกิโลเมตร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มาดำเนินการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและพัฒนามุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้อยู่ดีกินดี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังหลักการมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และปกป้องป่าสักธรรมชาติที่สมบูรณ์แห่งนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนตามประราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9สืบไป …...................................................................