"หากในวันนั้นสื่อมวลชนทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันเช่นทุกวันนี้ ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น" นี่คือคำกล่าวของ "พลเอกวิชิต ยาทิพย์" นายกสมาคมมิตรภาพไทย - กัมพูชา (ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ) ซึ่งพูดในโอกาสให้การต้อนรับคณะของสมาคมนักข่าวกัมพูชา (Club of Cambodian Journalists) ที่เดินทางเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) เหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2546 ซึ่งมีเหตุมาจากหนังสือพิมพ์ (รายสะดวก) ฉบับหนึ่งตีพิมพ์บทความว่า นักแสดงหญิงชื่อดังชาวไทยกล่าวหาว่ากัมพูชาขโมยนครวัดไปจากไทย ซึ่งรายงานดังกล่าวถูกแพร่กระจายไปตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุที่ถือว่าเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา จนในที่สุดเหตุจลาจลลุกลามไปจนกลายเป็นการบุกเผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ และโจมตีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของธุรกิจที่มีคนไทยเป็นเจ้าของด้วย หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับกัมพูชาเรียกว่าอยู่ในยุคตกต่ำ มีการปิดพรมแดน ถึงต่อมาจะค่อยๆ คลี่คลาย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน แม้ระหว่างรัฐบาลจะสามารถดำเนินความสัมพันธ์ตามตามพิธีการทูตได้ปกติ แต่หัวใจของประชาชนสองประเทศยังคงไว้ด้วยคำถาม และความไม่ไว้ใจ พลเอกวิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย - กัมพูชา ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนกัมพูชาเดินทางเยือนประเทศไทย จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น สมาคมนักข่าวฯ จึงเห็นว่าควรจะมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนไทย กับกัมพูชาขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งได้มีความพยายาม และเห็นผลชัดเจนในยุคของ "นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี" เป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย "สังคมกัมพูชาวันนั้นเป็นสังคมข่าวลือ โซเชียลมีเดียก็ไม่มี สถานีวิทยุถูกบิดเบือนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดม แม้จะมีความพยายามส่งข่าวกันด้วยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ได้คุยกับเลขาของ CCJ ได้รับการเตือนว่าเหตุการณ์จะบานปลาย และได้เตือนไปยังสถานทูตแล้ว แต่ฝ่ายสถานทูตก็ยังไม่เชื่อ จนที่สุดแล้วก็ลุกลามไปสู่การเผาสถานทูต เผาทำลายโรงแรม กิจการของคนไทย" นายชวรงค์กล่าว จากคำบอกเล่าของอดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ความสัมพันธ์ในระดับสื่อมวลชน 2 ประเทศ ต้องนับย้อนไปตั้งแต่หลังมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ที่กรุงปารีส ปี 2534 จากนั้นทางสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา โดยในช่วงปี 2535 -2536 ที่ยูเอ็นเข้ามานั้น ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านสื่อมวลชนด้วย โดยมีการให้การศึกษาฝึกอบรมแก่สื่อมวลชน ให้ทุนงบประมาณ ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้มีการตั้งสมาคมสื่อขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นก็มี "สมาคมนักข่าวกัมพูชา" (Khmer Journalists Association: KJA) นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมาปาณี แต่ด้วยความที่ในกัมพูชา ผู้มีอำนาจรัฐต่างเล็งเห็นความสำคัญของสื่อ อยากได้สื่อมาเป็นพวก ถ้าสื่อและสมาคมวิชาชีพสื่อมีเสรีภาพมากเกินไป มีลักษณะที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล จะทำให้รัฐบาลอยู่ลำบาก รัฐบาลผสมของกัมพูชาขณะนั้น โดยฝ่ายของพรรคประชาชนของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน จึงได้สนับสนุนให้นักข่าวที่เป็นพวกของตนเองตั้งสมาคมขึ้นมาแข่ง จึงกลายเป็นมี League of Cambodian Journalists ขึ้นมาด้วย สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเดิมในขณะนั้น ได้เข้าไปเปิดความสัมพันธ์เริ่มจาก KJA แต่เมื่อพบว่ามี League of Cambodian Journalists ด้วยก็ดำเนินความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนกัน แต่ทำได้แค่รอบเดียว หลังจากปี 2540 ก็เกิดเรื่องของกบฏขึ้นมา ผู้นำขององค์กรสื่อก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายกบฏ หรือถูกกันตัวไว้เป็นพยาน ทำให้เกิดความแตกแยกภายในจน KJA ล่มไปโดยปริยาย ทำให้ความสัมพันธ์หยุดชะงักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาเมื่อสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า (Southeast Asian Press Alliance) เกิดในปี 2542 โดยเริ่มจากไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เริ่มมองหาวิธีการขยายออกไปส่งเสริมเสรีภาพสื่อในภูมิภาคจึงก็คิดว่ากัมพูชาน่าจะเป็นที่ที่ทำงานง่ายที่สุด เลยเข้าไปพยายามฟื้นฟูทั้งสององค์กรที่ว่ามา มีการเชิญแกนนำสื่อทั้งหลายมาประชุมกัน ว่าจะมีแนวทางในการรวมตัวเป็นสมาคมขึ้นมาใหม่เพื่อจะมีองค์กรที่คอยต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ การพูดคุยดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ แต่หลักจากนั้นไม่กี่เดือน กลับกลายเป็นว่าต่างคนต่างตั้งองค์กร หรือสมาคมขึ้นมาอีกจำนวนมาก นายชวรงค์ เล่าต่อว่า ในปี 2544 มีการจัดประชุม IFEX ที่กรุงเทพ ก็เลยเชิญสมาคมที่คิดว่ามีศักยภาพมาร่วม สุดท้ายก็พบว่าเหลือเพียง CCJ กับCambodian Association for Protection of Journalists (CAPJ) และ League of Cambodian Journalists ก็พยายามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยการรวมตัวเป็นสมาพันธ์แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะทุกคนต่างอยากมีบทบาท ซึ่งตอนนั้นถ้าใครตั้งเป็นสมาคมได้จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ สมาคมนักข่าว และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังจากรวมตัวกันเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็เห็นว่าควรเดินตาม SEAPA ในฐานะที่เป็นสมาชิก SEAPA จึงได้ไปร่วมมือกับ League of Cambodian Journalists กับ CAPJ มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือระหว่างกัน ช่วงปี 2544 - 2545 แต่ก็ไปมาได้แค่คนละเที่ยวก็ชะงักไปอีกครั้ง ชั้นเรียนภาษาเขมรเบื้องต้นสำหรับสื่อมวลชนไทย โดยสมาคมนักข่าวฯ จนมาเมื่อถึงความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังเหตุการณ์เผาสถานทูตเลยมีการเชิญคณะสมาคมนักข่าวกัมพูชา (CCJ) มาเยือน และมีการนำคณะไปเยือน ได้มีการพูดคุยกัน ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (เอ็มโอยู) ซึ่งหนึ่งในนั้นได้มีการพูดถึงสายด่วน (HOT LINE) ที่เคยทำอย่างไม่เป็นทางการ ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบทางการ แม้ไม่ได้คิดว่าจะเกิดเหตุอะไร แต่ก็เห็นว่าน่าจะมีช่องทางในการประสานคุยกันในกรณีเร่งด่วนเอาไว้ พิธีเปิดอบรมภาษาไทยเบื้องต้นสำหรับสื่อมวลชนกัมพูชา โครงการร่วมของสองสมาคมฯ สนับสนุนโดยเอสซีจี อย่างไรก็ตาม ต่อมามีเหตุการณ์ของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถูกนำภาพไปกระจายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ และมีการกล่าวหาไปต่างๆ นานา ทางสมาคมฯ และผู้บริหารเห็นว่า ถ้าสื่อไทยยังลงภาพแบบนี้ กัมพูชาก็ยังลงแบบนี้คงรุนแรงแน่ เลยได้มีการใช้ช่องทางสายด่วนที่ว่า พูดคุยกัน ซึ่งในส่วนของสื่อไทยขณะนั้น นายชวรงค์กล่าวว่า ได้มีการขอร้องกันว่า ให้เรียนรู้จากบทเรียนบทเรียนจากปี 2546 นำเสนอข่าวก็ได้ แต่อย่าเสนอภาพที่คนกัมพูชาเห็นแล้วจะบาดหัวใจออกไป แม้ว่าไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากแวดวงสื่อไทยด้วยดี ขณะเดียวกัน ก็ขอไปทางกัมพูชา ฝากทางนั้นให้ไปดูไม่มีการขยายผล ทางผู้นำองค์กร CCJ ก็รับปาก "ตอนหลังก็ได้ถามเขา ที่ไม่บานปลายส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการพูดคุยกันภายในด้วย ประกอบกับตอนนั้นสื่อกัมพูชาสนใจพิธีพระบรมศพมากกว่าเรื่องอื่นๆ จึงไม่ถูกขยายความไปมาก ถือว่าเป็นโชคดีไปที่ได้มีการพูดคุยกัน ตั้งแต่นั้นมาเวลาที่สองสมาคมสื่อมีการพูดคุยกัน ก็เลยจะพูดเรื่องนี้กันเป็นหลักว่า หากมีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ต้องมีการยกหูคุยกันว่าจะมีการแก้ปัญหากันอย่างไร" จะเรียกได้ว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด สื่อมวลชนเองก็เป็นได้ทั้งผู้ที่จะรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจจะตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดี จนนำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ความเชื่อใจระหว่างกันก็ได้ ประเด็นนี้ นายชวรงค์กล่าวว่า โดยหลักแล้ว สื่อต้องเสนอความจริงให้รอบด้าน เสนอข่าวอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน ทำให้เกิดคำถามคือส่วนรวมหมายถึงใคร ส่วนรวมของภูมิภาคของโลก หรือส่วนรวมของประเทศตนเอง นักข่าวกัมพูชากำลังเรียนภาษาไทย สื่อไทยที่ผ่านมา ก็มีทั้งสองแบบเช่นกัน แต่ปัญหาของสื่อบ้านเราคือ มักจะนำเสนอเรื่องเพื่อบ้านแบบที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ทำให้ออกไปในแนวชาตินิยม คือการเอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เพื่อนบ้านแย่ทั้งหมด ถึงไม่ได้เป็นทั้งหมด แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ แล้วถ้าพูดถึงประเด็นความมั่นคง ถึงที่สุดแล้วสื่อไทยก็ยังให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลเสียทีเดียวในเรื่องนโยบายก็ตาม ตัวอย่างกรณีพระวิหาร บรรยากาศของสิทธิเสรีภาพของสื่อไทยช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ก็มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว จนบางครั้งฝ่ายรัฐมองว่าสื่อบางแห่งไม่รักชาติก็มี ความสัมพันธ์สื่อไทย กับกัมพูชาปัจจุบันเป็นอย่างไร นายชวรงค์มองว่า อยู่ในขั้นที่ค่อนข้างดี การเปิดความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือน ทำให้เขามีความเข้าใจสื่อไทย เข้าใจคนไทยมากขึ้น แม้ว่าฝ่ายนั้นยังมีเรื่องของการเมืองมามีอิทธิพลในการนำเสนอข่าวอยู่ ถ้าช่วงรัฐบาลมีปัญหากัน ก็จะเสนอข่าวที่ไม่ค่อยเป็นผลดีกับประเทศไทยนัก แต่ในภาวะปกติเช่นนี้ก็จะลดโทนลงโดยปริยาย ที่ได้พูดคุย ทำความรู้จักสนิทสนมกันไว้ วันหนึ่งแม้จะเขาถูกเขาถูกสั่ง หรือกดดันให้โจมตีฝ่ายไทย ก็น่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ "ถ้าเราสามารถที่จะคงไว้ ดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี สร้างโครงการที่มีลักษณะร่วม เช่นโครงการอบรมภาษา ก็จะขยายไปเรื่องความร่วมมือ การแลกเปลี่ยน การทำข่าว ก็จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่รัฐบาลสองประเทศเองก็ไม่ได้มีปัญหากัน ก็เลยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อไทย กับกัมพูชาก็ดีไปด้วย แต่จะทำอย่างไร ที่จะไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือสื่อสองประเทศไม่ต้องขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมือง แม้จะมีความขัดแย้งกันในระดับรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่สื่อในฐานะผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งสองประเทศ ต้องสร้างความเข้าใจอันดี ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ การนำเสนอข่าวต้องมุ่งไปสู่การทำให้ประชาชนสองประเทศรักกัน จะเกลียดกันไม่ได้ เพราะประเทศอยู่ติดกัน อย่างไรแล้วก็ต้องอยู่ด้วย ในอนาคตการเป็นประชาคมอาเซียน ที่จะต้องเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยกันแล้วยิ่งต้องรัก" นางลาย จันรัศมี อุปทูตกัมพูชาประจำเทศไทย เช่นเดียวกับ "นางลาย จันรัศมี" อุปทูตกัมพูชาประจำเทศไทย ที่กล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้าง และรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศ และประชาชนของสองชาติ รัฐบาลเองก็จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อมวลชนในการช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับกัมพูชาแน่นแฟ้นเป็นอย่างยิ่ง และการที่ได้เห็นว่า มีความพยายามในระดับสื่อมวลชนโดยองค์กรวิชาชีพสื่อของ 2 ประเทศ อย่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าวกัมพูชา ที่ได้ร่วมมือกันในด้านต่างๆ นั้น ถือเป็นเรื่องยินดีอย่างยิ่ง และอยากจะให้รักษาไว้ซึ่งความร่วมมือนี้ต่อไป เพราะความเข้าใจระหว่างกันนั้นจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของประเทศ และประชาชนด้วย