คณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศเห็นชอบตัวอย่างสีจิตรกรรมฉากบังเพลิง ช่างสิบหมู่เผยใช้ชมพู สีประจำพระชนมายุในหลวง ร.9 อัญเชิญตรา “ภ.ป.ร.” ส่วนรูปทรงนารายณ์อวตาร 8 ปาง ปรับท่าทาง-โครงสร้างอนาโตมีเป็นธรรมชาติ งานขยายแบบเท่าจริงคืบหน้าร้อยละ 90 คาดเขียนฉาก 4 ด้านเสร็จสิ้นเดือนสิงหา ผนึกลงฉากจริงก.ย.นี้ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมช่างเร่งเขียนแบบร่าง 46 โครงการเสร็จมี.ค.นี้ ความคืบหน้าการจัดสร้างฉากบังเพลิง เครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายมณเฑียร ชูเสือหึง รักษาการจิตรกรรมชำนาญการ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า งานเขียนฉากบังเพลิงประกอบพระเมรุมาศที่ใช้เป็นเครื่องกั้นและบังลมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีความคืบหน้าไปมาก หลังจากที่ตนและนายเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงษ์ กลุ่มจิตรกรรม เขียนภาพร่างทั้งหมด 4 ทิศ ตามเรื่องราวนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 จำนวน 8 ปาง และมีกลุ่มเทวดาแสดงความยินดีและรับกลับสู่สรวงสรรค์ ด้านทิศเหนือ ปางที่ 2 กูมาวตาร เป็นเต่าทอง ปางที่ 1 มัสยาวตาร เป็นปลากรายทอง ด้านล่างเป็นโครงการพระราชดำริ หมวดน้ำ 4 โครงการ ด้านทิศใต้ ปางที่ 7 รามาวตาร เป็นพระรามในรามเกียรติ์ ปางที่ 6 ปรศุมาวตาร เป็นพราหมณ์ชื่อปรศุราม ถือขวาน โครงการพระราชดำริหมวดไฟ 4 โครงการ ด้านทิศตะวันออก ปางที่ 4 นวสิงหาวตาร เป็นนรสิงครึ่งคน ปางที่ 3 วราหาวตาล เป็นหมู่ป่าเอกเขี้ยวเพชร โครงการพระราชดำริหมวดดิน 4 โครงการ และด้านทิศตะวันตก ปางที่ 10 กัลยาวตาร เป็นบุรุษขี่ม้าขาว ปางที่ 8 กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณะ โครงการพระราชดำริหมวดลม 4 โครงการ สำหรับด้านหลังฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศ เขียนดอกไม้ทิพย์และดอกไม้มงคล อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.ประดับด้วยดอกดาวเรืองสีเหลือง ดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9 และลวดลายเฟื่องอุบะด้วยดอกมณฑลทิพย์ คณะกรรมการจัดสร้างพระเมรุมาศให้ปรับปรุงแก้ไขและออกแบบภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือใหม่เพื่อให้สัมพันธ์กับ 4 ทิศ โดยปรับท่าทางโครงสร้างอนาโตมี และองค์ประกอบให้ดูธรรมชาติและมีความเป็นจริงมากขึ้น ขณะนี้แบบร่างแก้ไขเรียบร้อยและได้ดำเนินการลงตัวอย่างสีเพื่อเป็นแบบอย่างขณะขยายงานจริงเพื่อดูโครงสร้างสีและตำแหน่งที่ถูกต้องเสร็จแล้ว ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ แล้ว “ตนได้ทดลองลงสีจิตรกรรมฉากบังเพลิง ทิศเหนือ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เน้นสีชมพู เขียวและเหลือง เพื่อให้ประสานสัมพันธ์กับพระเมรุมาศที่มีสีทองเป็นหลัก ส่วนฉากหลังที่อัญเชิญตราสัญลักษณ์ ภ.ป.ร. ลงสีชมพู สีประจำพระชนมายุในหลวง ร.9 เป็นหลัก โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ใช้ตัวอย่างสีฉากบังเพลิง ทิศเหนือเป็นต้นแบบให้กับ 3 ทิศ ที่เหลือ การเขียนจะใช้สีอครีลิค เป็นสีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แทนสีฝุ่นที่ใช้ในจิตรกรรมโบราณ เพราะเมื่อโดนแดด ลมและฝน สีจะไม่ซืดและลอกออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายงานแสดงส่วนรายละเอียดเท่าจริงรูปทรงนารายณ์อวตาร เทวดา โครงการพระราชดำริ และดอกไม้ทิพย์ คืบหน้า 90% จะเสร็จสัปดาห์หน้า” นายมณเฑียร กล่าว และเสริมอีกว่า ลำดับต่อไปจะเขียนภาพลงบนผืนผ้าใบขนาดเท่าจริง พร้อมลงสีและเก็บรายละเอียด คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 4 ด้าน สิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำจิตรกรรมผนึกลงบนฉากบังเพลิงจริงที่เป็นไม้ ก่อนเก็บรายละเอียดครั้งสุดท้าย ทุกขั้นตอนจะเสร็จสมบูรณ์เดือนกันยายน ช่างสิบหมู่เป็นผู้จัดสร้างทั้งหมด เพราะเป็นจิตรกรรมที่มีความสำคัญใช้ประกอบในพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ครั้งนี้ “งานเขียนฉากบังเพลิงจะทำควบคู่กับจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 46 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบเขียนแบบร่างภาพเพื่อเป็นต้นแบบ ยึดหลักบันทึกเหตุการณ์จริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง มีความถูกต้อง ชัดเจน ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจเก็บข้อมูลใช้ออกแบบ เขียนแบบ คาดว่าแบบร่างทั้ง 46 โครงการ จะเสร็จสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนนำแบบร่างให้คณะกรรมการฯ พิจารณา หากเห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนขยายแบบลงบนผ้าใบขนาดเท่าจริง “ภาพจิตรกรรมโครงการพระราชดำริที่จะติดตั้งในอาคารพระที่นั่งทรงธรรมมีทั้งหมด 3 ผนัง ผนังที่ 1 มีข้าราชการกรมศิลปากรและผู้มีประสบการณ์เขียนจิตรกรรมเป็นผู้เขียน ผนังที่ 2 มอบหมายให้ช่างศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ส่วนผนังที่ 3 มอบหมายให้วิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ รับผิดชอบ เมื่อเขียนจิตรกรรมแล้วเสร็จจะผนึกบนผนังจริงภายในอาคารต่อไป” นายมณเฑียร ช่างเขียนจิตรกรรมฉากบังเพลิง กล่าวทิ้งท้าย