รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล แฟนนี เมนเดลโซน กับเพลงของสตรี ด้วยทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมตะวันตก เป็นที่ทราบกันดีว่าชะตากรรมของนักแต่งเพลงหญิงในสมัยก่อนจึงมักเป็นการถูกลืม ถูกลบเลือนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิก หรือแม้จะไม่ถูกลืมไปเสียทีเดียว แต่ก็มักได้รับการยกย่องน้อยกว่านักแต่งเพลงเพศชายอย่างเห็นได้ชัด กรณีของ แฟนนี เมนเดลโซน เฮนเซล (Fanny Mendelssohn Hensel ค.ศ.1805-1847) นับเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแฟนนีเป็นพี่สาวของนักแต่งเพลงชาวเยอรมัน (เชื้อสาวยิว) ชื่อดัง คือ เฟลิกซ์ เมนเดลโซน และมักถูกเข้าใจว่ามีความสามารถด้อยกว่าน้องชายมาตลอดในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ในความเป็นจริง จากหลักฐานชั้นต้นหลายชิ้น เราพบว่าแฟนนีมีอิทธิพลต่อการทำงานแต่งเพลงของน้องชายเธอเป็นอย่างมาก เช่น ทั้งสองมักติดต่อกันทางจดหมาย และมีการวิพากษ์วิจารณ์งานเพลงของกันและกันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาอยู่เสมอ และยังมีหลักฐานที่น้องชายเขียนแสดงความยกย่องผลงานแต่งเพลงของแฟนนีเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่แฟนนีได้รับการยกย่องน้อยกว่าน้องชายตนเองก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะหากมองจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หญิงสาวในยุคนั้นย่อมถูกกีดกันไม่ให้แสดงดนตรีเป็นอาชีพอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ดังนั้น คนที่สามารถออกแสดงคอนเสิร์ตไปยังหลายประเทศในยุโรปและมีชื่อเสียง จึงเป็นน้องชาย ขณะที่พี่สาว ที่มีฝีมือพอๆ กัน กลับถูกจำกัดบริเวณการแสดงฝีมืออยู่แค่ในรั้วบ้าน อยู่ใแค่การแสดงดนตรีส่วนบุคคลที่จัดขึ้นในเบอร์ลินเท่านั้น และกระทั่งการตีพิมพ์งานแต่งเพลงของตัวเอง ก็ยังถูกกีดกัน ดังนั้นจึงปรากฏว่า แฟนนีจำเป็นต้องตีพิมพ์งานบางชิ้นของเธอออกมาในนามน้องชาย - เฟลิกซ์ - อย่างไม่มีทางเลือก ผลจึงกลายเป็นความสับสนในโลกดนตรี และทำให้ผลงานหลายชิ้นของเธอกับน้องชาย ถูกจัดแบ่งอย่างผิดพลาด โดยเฉพาะผลงานชุดที่โด่งดังมากของเฟลิกซ์ คือ Songs Without Words ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงสำหรับเปียโนชิ้นสั้นๆ จำนวนหลายสิบบท ที่ในปัจจุบันมักเข้าใจกันว่าเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเฟลิกซ์แต่เพียงผู้เดียวนั้น หากพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เราพบว่าแฟนนีมีส่วนร่วม หรืออย่างน้อยก็มีอิทธิพลต่องานชุดนี้ของน้องชายเป็นอย่างมาก ดังปรากฏหลักฐานว่ามีเพลงเพลงหนึ่งในงานชุดนี้ ที่เฟลิกซ์จงใจแต่งเพียงครึ่งแรก และส่งต่อให้พี่สาวแต่งครึ่งเพลงหลัง นอกจากนั้น หากเราย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนวิจารณ์ดนตรีที่ตีพิมพ์ร่วมสมัยกับงานชุดนี้ เราจะพบข้อความของนักวิจารณ์ดนตรีหลายคนที่กล่าวตำหนิตรงกัน โดยกล่าวหาว่าเฟลิกซ์ได้รับอิทธิพลจากพี่สาว จนทำให้ผลงานชุดนี้มี “กลิ่นอายของความเป็นหญิง” มากเกินไป ขณะที่งาน Easter Sonata (สำหรับเปียโน) ของแฟนนี ก็กลับถูกเข้าใจผิดมานานว่าเขียนขึ้นโดยน้องชายของเธอ ด้วยเหตุที่นักวิชาการบางคนเห็นว่างานชิ้นนี้มีบุคลิกของเสียงดนตรีแบบ “เพศชาย” ต้นฉบับงาน Easter Sonata ถูกพบเมื่อราวๆ 40 ปีที่แล้ว และได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกในฝรั่งเศส ในฐานะงานของเฟลิกซ์ผู้น้อง แต่ล่าสุด หลังการสืบค้นหลักฐานชั้นต้นอย่างละเอียดลออ ทั้งในบันทึกส่วนตัว ทั้งจากการเปรียบเทียบลายมือในต้นฉบับ และการแก้ไขโน้ตเพลง นักวิชาการยืนยันว่า Easter Sonata ถูกเขียนขึ้นโดยแฟนนี เมนเดลโซนอย่างแน่นอน ดังที่นักประวัติศาสตร์ดนตรี ดร. แองเจลา เมซ คริสเตียน ให้สัมภาณ์กับทาง The Telegraph ในบทความที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ว่า งานเพลงชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเมื่อแฟนนีอายุ 23 ปี และถือเป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นถึงความสามารถของแฟนนีได้เป็นอย่างดี