บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน พ่อขุนรามคำแหง สืบสายจากโคตรระกูล ‘เลือง’ สิง : สายสกุลคนไทในเวียดนาม “นามสกุล” ในความหมายว่า ชื่อสายโคตรตระกูล ของชาวไทดำในเวียดนาม เรียกว่า “สิง” คนไทแดงในหัวพัน สปป.ลาว เรียกชื่อโคตรตระกูลว่า “เจ้า” คำว่า “สิง” น่าตรงกับคำจีนว่า “สิ้ง” 姓 (แซ่) แต่นั่นมิใช่หลักฐานว่า คนไทดึกดำบรรพ์ไม่รู้จักแยกโคตรตระกูล คนไทดึกดำบรรพ์รู้จักแยกสายโคตรตระกูล เพียงแต่ดั้งเดิมใช้คำศัพท์ว่าอะไร ? ยังไม่อาจตัดสินได้ในขณะนี้ จากตำนานน้ำเต้าปุง คนที่ออกจากน้ำเต้าทางรูสิ่ว เรียกว่า “ไท” มีสามกลุ่ม คือ ไทลอ ไทเลิง ไทควาง ส่วนผู้คนที่ออกจากน้ำเต้าทางรูชี (เจาะด้วยเหล็กเผาไฟ) เป็นพวกข่า พงษาวดารล้านช้าง ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 1 พิมพ์ พ.ศ. 2457 เขียนว่า “ยามนั้นปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดงชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูที่นั้นก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เปนฮูแควนใหญ่แควนกว้าง คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ 3 วัน 3 คืนจึงหมดหั้นแล คนทั้งหลายฝูงออกมาทางฮูชีนั้นแบ่งเปน 2 หมู่ๆ หนึ่งเรียกชื่อไทยลม หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลี ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเปน 3 หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยเลิง หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลอ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยควางแล” “ลอ” “เลือง” และ “กว่าง” เป็น “สิง” (ชื่อตระกูล – เครือเฮือน) ของชาวไทดำ เลือง ใกล้เคียงกับ เลิง กว่าง ใกล้เคียงกับ ควาง “เลือง” และ “ควาง” เป็น “เจ้า” (ชื่อตระกูล-เครือเฮือน) ของชาวไทแดง และ “เลือง” อาจเป็นชื่อสายสกุลของเชื้อวงศ์ผู้ปกครองสุโขทัยด้วย ? (ดูจารึกขุนจิตขุนจอด) และ “สิงเลือง” ของไทน้อย กับ “เครือเฮือนเสือ” ของไทใหญ่ (ตระกูลเสือเป็นราชวงศ์ประมุขของไทมาวและไทอาหม) อาจจะเกี่ยวพันใกล้ชิดกัน (ในแง่บูชา Totem เหมือนกัน คือตัวเสือ) ตามจารีตโบราณของไทดำ คนในสกุล “ลอ” เป็นเจ้าปกครอง คนในสกุล “เลือง” เป็นหมอผู้ประกอบพิธีกรรมทางจิตวิยยารและวัฒนธรรม เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในตำนานน้ำเต้าปุงล้านช้างนั้น ไทลอหมายถึงสายโคตรตระกูลเจ้าเมือง ไทเลิงหมายถึงสายตระกูลหมอผี ส่วนไทควางหมายถึงราษฎรทั่วๆ ไป (ชาวนา) ? มีข้อมูลเกี่ยวกับตระกูล (สิง) เลือง ของชาวไทดำ ในหนังสือ “ศาสนาและความเชื่อ ไทดำในสิบสองจุไท” : สุมิตร ปิติพัฒน์ ดังนี้ “เดิมผู้เป็นหมอนั้นต้องสืบเชื้อสายจากสกุลเลือง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘เลืองเฮ็ดหมอ ลอเฮ็ดท้าว’ ซึ่งแปลว่าสกุลเลืองทำหน้าที่เป็นหมอ ส่วนสกุลลอให้ทำหน้าที่เป็นผ้ปกครองบ้านเมืองหรือเจ้านาย ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นหมอนั้นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหลักโหราศาสตร์ ระเบียบแบบแผนทางวัฒนธรรม และวิธีประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยละเอียด บทบาทนี้ถ่ายทอดจากพ่อไปยังลูกโดยการอยู่ใกล้ชิดและอบรมกันเป็นทอดๆ ต่อมามีคนจากสกุลอื่น เช่น สกุลกา และ สกุลกว่าง เกิดความสนใจและร่ำเรียนวิชาการเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ จึงได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่หมอได้เช่นเดียวกัน ในปัจจุบันอาชีพหมอจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มเลืองเท่านั้น” (หน้า 35) “คนในสกุลเลืองนับถือตัวเสือ ซึ่งมีนิทานเล่ามาว่า ‘สมัยโบราณฟ้ากับดินอยู่ใกล้กัน มีชายคนหนึ่งในสิงเลือง ขึ้นไปเล่นบนฟ้า จนไปถึงประตูฟ้าหรือประตูเมืองแถน ก็เห็นกลองใหญ่ใบหนึ่งจึงไปตีกลองนั้น จนกระทั่งแถนได้ยิน แถนให้ตัวเสือออกมาดูว่าใครเป็นผู้ที่มาตีกลองนั้น หากไม่มีเรื่องอะไรจะฆ่าเสีย เมื่อเสือออกมาดูก็เห็นว่ามีมนุษย์จากเมืองลุ่มขึ้นมาตีกลอง เสือถามว่าทำไมจึงขึ้นมาตีกลองบนนี้ หากแถนรู้เข้าจะถูกฆ่า เสือจึงบอกให้ชายคนนั้นหลบอยู่ในกองชานอ้อยหน้าประตูฟ้าเพื่อไม่ให้แถนเห็น เมื่อแถนออกมาจึงไม่พบใคร ชายคนนั้นจึงรอดชีวิตกลับมาได้ จึงเล่าเรื่องดังกล่าวแก่ลูกหลาน เพื่อให้ระลึกบุณคุณของเสือที่เคยช่วยชีวิตตนไว้ ต่อมาคนในตระกูลเลืองได้มีการเสนตัวเสือนี้ในทุกเดือนเจียง’ ในปัจจุบัน การเสนตัวเสือกระทำกันเฉพาะในตระกูลใหญ่ๆ ที่เรียกว่าเป็น “เจ้าสิง” ของ สกุลเลือง สกุลฮวง และ สกุลกว่าง คนในสกุลเลืองมีข้อห้ามเกี่ยวกับตัวเสือ คือห้ามกินเนื้อเสือ และหากเห็นเสือตายอยู่ที่ใด นางที่เป็นภรรยาของเฮือนนั้นจะต้องนำผ้าชุบน้ำไปปกหน้าเสือ และนั่งร้องไห้ที่เสือตาย คนในสกุลเลืองจะมีคำขับที่กล่าวถึงเหตุที่เสือตายนั้นว่า ‘ดงหลวงอ้ายปู่เกิดกวา อ้ายปู่จังไปหง่านี้ อ้ายปู่จังตาย แซลายอ้ายปู่ยังตอย ซอยลอยอ้ายปุ่ยังตาย’ ความหมายของคำขับนี้ กล่าวว่า ‘ป่าใหญ่ทึบอ้ายปู่(เสือ)ไม่ยอมผ่าน ป่าธรรมดาก็ไม่ยอมอยู่ อ้ายปู่ไปท่งแยกนี้(ซึ่งไม่ใช่ทางที่ควรไป) อ้ายปู่จึงตาย อ้ายปู่จึงตาย’ ในพิธีเสนตัวเสือของเรือนที่เป็นเจ้าสิงนั้น เมื่อฆ่าหมูแล้วก่อนที่จะทำให้หมูนั้นสุก ให้นำหมูนั้นไปวางไว้ที่หน้าหิ้งผีเรือน แล้วเชิญเสือให้มากินหมูนั้นก่อน หลังจากนั้นก็นำหมูนั้นไปทำให้สุกแล้วจึงนำมาเสนให้ผีเรือน” (หน้า 52-53) ข้อมูลนี้มีนัยว่า สมัยดึกดำบรรพ์ โทเทม Totem ของโคตรตระกูล “เลือง” คือตัวเสือ หนังสือ “คนไทแดง ในแขวงหัวพัน สปป.ลาว” : สุมิตร ปิติพัฒน์ และคณะ มีข้อมูลเกี่ยวกับ “สิงเลือง” ดังนี้ “ระบบเครือญาติของชาวไทแดงมีโคตรตระกูลหรือ “เจ้า” ที่สำคัญ 4 โคตรตระกูล คือ “เจ้าลก” “เจ้าลือ” “เจ้าเลือง” “เจ้าควาง” ตระกูลทั้งสี่นี้มีตำนานว่า เป็นพี่อ้ายน้องชายกันมาแต่ต้นกำเนิด จึงถือว่าเป็นโคตรตระกูลด้ำรากเหง้าเก่าแก่ของชาวไทแดง โดยให้ความนับถือว่า “เจ้าลก”เป็นโคตรตระกูลที่ใหญ่ที่สุด เนื่องจากเจ้าลกเป็นพี่ชายที่เกิดมาก่อนคนอื่น โคตรตระกูลเหล่านี้มีข้อห้ามร่วมกันประการหนึ่งคือ ห้ามกินตัวเสือ ตัวแมว ในขณะที่โคตรตระกูลอื่นของชาวไทแดงได้แก่ “เจ้าเฟือ” และ “เจ้าอัน” เป็นโคตรตระกูลที่ไม่ได้นับเป็นญาติพี่น้องกับสี่ตระกูลข้างต้น” (หน้า 25) การได้รับรู้ว่า คนไทดำ ไทแดง มีชื่อโคตรตระกูลว่า “เลือง” ยังอาจไม่น่าตื่นเต้นนัก แต่ถ้าหากเราเชื่อตามจารึกสมัยสุโขทัย “จารึกขุนจิตขุนจอด” ว่ามีโคตรตระกูล “เลือง” อยู่ในสุโขทัยด้วย ก็น่าตื่นเต้น ที่เราสามารถสืบสายเครือญาติคนสุโขทัยกับคนไทในเวียดนามได้แล้ว (ดูบทความ “คนสุโขทัยยุคบุกเบิกมาจากลุ่มแม่น้ำแดงในเวียดนาม หลักฐานจากภาษาในปฏิทินโบราณและจากจารึกสุโขทัย” โดย วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ หนังสือ “วารสารไทคดีศึกษา “ผู้คนและวิถี วัฒนธรรมอดีต-ชีวิตปัจจุบัน” ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เมษายน-กันยายน พ.ศ. 2554) จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด สุโขทัย พ.ศ. 1935 และจารึกปู่สบถ น่าน พ.ศ. 1935 มีความสำคัญยืนยันว่าผู้ปกครองสุโขทัยและน่านเป็นเครือญาติกัน จารึกทั้ง 2 ถือเป็นหลักฐานแสดงความเป็นพันธมิตรต่อกันระหว่างสุโขทัย และน่าน คือพระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสลิไท) ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน กระทำสัตย์สาบานเป็นไมตรีกับพญาคำตันแห่งเมืองน่าน ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ “จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด มีเนื้อความโดยสังเขปดังนี้ ด้านที่ 1 ตอนต้นของจารึกที่มีการอัญเชิญเทพยดาอารักษ์ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ในถ้ำต่าง และดวงพระวิญญาณของกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ของทั้งสองราชวงศ์ ดังนี้ “...(อารัก)ษ์ทั้งหลายอันมีในน้ำในถ้ำ(ว)งศาหนพระยาผู้ปู่ ปู่พระยา...ปู่เริง ปู่มุง ปู่พอง ปู่ฟ้าฟื้น... (ผ)กอง ปู่พระยาคำฟู...(พระ)ยาผากอง เท่านี้ด้ำพงศ์กาว” พระนามดังกล่าวนี้เป็นกษัตริย์เมืองน่าน และที่ระบุว่าด้ำพงศ์กาวนั้นอาจตั้งข้อสันนิษฐานว่าเชื้อสายของเมืองน่านเป็น “กาว” โดยพิจารณาจากคำว่า “ด้ำ” ที่หมายถึงผีบรรพบุรุษ เนื้อความต่อจากนั้นมีการเชิญดวงพระวิญญาณกษัตริย์ฝ่ายราชวงศ์สุโขทัย ดังนี้ “(ฝู)งผู้หวาน ปู่ขุนจิตขุนจอด ปู่พระยาศ...(รีอินทราทิ)ตย์ ปู่พระยาบานเมือง ปู่พระยารามราช ปู่ไสส...(ส)งคราม ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม ปู่...(พระ)ยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย แ...(ลไท)ยผู้ดีผีชาวเลืองเท่านี้แล” เนื้อความต่อจากนี้เป็นการเชิญเทพยาอารักษ์มาเป็นพยาน เช่น เสื้อใหญ่ประจำเขาภูคา เขาผาดาน ผีประจำแม่น้ำป่าสัก (แม่พระศักดิ์) ปู่เจ้าพระขพุง เป็นต้น ให้มา “แต่งตาดูสองปู่หลานรักกัน” แต่หากผู้ใดไม่ซื่อขอให้เทพยาอารักษ์เหล่านี้หักคอ อย่าให้ได้เป็นกษัตริย์จนถึงแก่เฒ่า ขอให้ตายในเร็ววัน ให้ได้รับบาปเทียบเท่ากับบาปแห่งการตัดคอพระสงฆ์ตกนรกอบายภูมิ อย่าได้หวังจะได้พบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์สักครั้ง แต่หากผู้ใดซื่อตรงต่อคำสัตย์ขอให้สำเร็จความประสงค์ทุกประการ ทั้งในชาตินี้ชาติหน้าตราบถึงพระนิพพาน ด้านที่ 2 มีการอ้างถึงพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธ พระสถูป แลพระมหาธาตุในลังกามีเป็นพยาน รวมถึงอ้างถึงเทพมเหศวร พระศิวะ พระยุธิษถิร พระภีมะ พระอรชุน พระพิรุณ เทพยดานพเคราะห์ เทพจตุโลกบาล พรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้น เทพประจำสวรรค์ทั้ง 7 ชั้น ทวีปทั้ง 4 เป็นต้น มาเป็นพยาน ด้านที่ 3 มีเนื้อความว่า หากข้าคนช้างม้าวัวควายอันเป็นสมบัติของเมืองใด พลัดหลงไปยังอีกเมืองหนึ่ง ให้ส่งคืนไปยังเมืองนั้นๆ หากข้าราชการ พลเมืองเมืองหนึ่งไปลักข้าวของยังอีกเมืองหนึ่งมิได้ซื่อตรงยำเกรงแก่กษัตริย์ทั้ง 2 เมือง หากข้าราชการไม่พิจารณากำหนดโทษตามความผิด ก็ให้ข้าราชการผู้นั้นรวมถึงผู้กระทำผิดตกนรกอยู่ร่วมกับพระเทวทัตตราบเท่าพุทธันตริกกัลป์ ส่วนจารึกปู่สบถ ข้อความตอนต้น บรรทัดที่ 1 – 3 ชำรุด พออ่านได้ใจความว่า ...หากมีการทำให้เสียพระราชไมตรี หรือมีความทุกข์ร้อนในเมืองสุโขทัยแล้วปู่ (พระยาคำตัน) ไม่ช่วยดูแลเหมือนที่ดูแลเมืองน่าน... จะทำให้ความสัมพันธ์แตกร้าว หากทำผิดคำสัตย์ก็ขอให้อย่าได้รู้จักซึ่งไศพาคมน์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในภายหน้า ถ้า “เจ้าพระยา” (พระมหาธรรมราชา ไสยลิไทย) ไม่ซื่อสัตย์ต่อปู่ (พระยาคำตัน) ด้วยใจจริง โทษแห่งคำสาบานนี้อย่าได้เกิดแก่ปู่สักอัน เนื้อความต่อมากล่าวว่า กูผู้ชื่อพระยาฦๅไทย (พระมหาธรรมราชา ไสยลิไทย) กระทำไมตรีแก่ปู่พระยาตราบเข้าโมกษนิพพาน หากปู่พระยารักด้วยใจจริง พระมหาธรรมราชา (ไสยลิไทย) ก็จะรักตอบโดยไม่มีจิตคิดร้าย หากเมืองสุโขทัยมีอันตรายก็ขอให้ท่านช่วยเหลือด้วยกำลังพล หรือไม่มีอันตรายก็ดีหากปูพระยาจะรับรู้ได้ด้วยญาณใดๆ ก็ดี ก็ขอให้มอบสิ่งของต่างให้ตามแต่เราจะต้องการมากหรือน้อย ขอให้พระยาคำตันดูแลเมืองสุโขทัยเหมือนกับที่ดูแลเมืองน่าน หากปู่พระยาเป็นดังว่านี้แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 3 (ไสยลิไทย) จะถือพระยาคำตันเหมือน “มหาธรรมราชาท่าน” คือ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ผู้เป็นปู่ หากมีความทุกข์ร้อนหรืออันตรายในเมืองน่าน ก็จะช่วยเหลือด้วยกำลังพล และสติปัญญา หากใครไม่ซื่อก็ขอให้รับพิบากกรรมในจตุราบาย เสมอด้วยบาปอันฆ่าพระสงฆ์” (คำอธิบาย - จารึกสุโขทัย ฉบับภาษาไทย - เขมร. สมาคมวัฒนธรรมไทย - กัมพูชา, 2551) “ผีชาวเลือง” หมายถึงอะไร ? เป็นประเด็นที่ต้องตีความกันตามข้อมูลอย่างปราศจากอคติ คำ “เลือง” ในภาษาไทยปัจจุบัน มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “เรือง” และมีคำศัพท์เหลืออยู่เพียงคำเดียวคือ “มลังมเลือง” ในภาษาล้านนา-ล้านช้าง โบราณ มีคำว่า “เลือง” หรือไม่ ? “เลือง” ในภาษาไทดำ นอกจากเป็นชื่อ“สิง-นามสกุล” แล้ว มีความหมายอย่างอื่นหรือไม่ ? ความรู้ของข้าพเจ้าไปไม่ถึง จึงขอฝากท่านผู้รู้ช่วยค้นคว้าต่อด้วย. ……………………………. บทความควรอ่านเพิ่มเติม : “คนสุโขทัยยุคบุกเบิกมาจากลุ่มแม่น้ำแดงในเวียดนาม หลักฐานจากภาษาในปฏิทินโบราณและจากจารึกสุโขทัย” โดย วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ หนังสือ “วารสารไทคดีศึกษา “ผู้คนและวิถี วัฒนธรรมอดีต-ชีวิตปัจจุบัน” ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เมษายน-กันยายน พ.ศ. 2554