“ช่างสิบหมู่”ขึ้นโครงสร้างพระโกศจันทน์-ช่างจิตอาสา50คนช่วยโกรกฉลุลายขัดไม้คัดลอกแบบ-นายช่างศิลปกรรมอาวุโสเผยงานสร้างพระหีบฯพระโกศจันทน์ต้องใช้ความชำนาญมากคืบหน้า10%-บันทึกจดหมายเหตุพระบรมศพ“ร.9”หนังสือที่ระลึกคืบหน้า30%กำหนด6เล่มแล้วเสร็จเดือนกันยาฯ ความคืบหน้าการจัดสร้างพระหีบจันทน์ พระโกศจันทน์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดสร้างพระโกศจันทน์ และพระหีบจันทน์ คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 10 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับขยายแบบโครงสร้างและปรับแบบลวดลาย จัดสร้างโครงสร้างหุ่นพระโกศจันทน์ โกรกฉลุลวดลายลงบนหุ่นโครงสร้างพระโกศจันทน์ ซึ่งการโกรกฉลุลายไม้มีช่างอาสาสมัครเข้ามาช่วยฉลุตามแบบ และสัปดาห์หน้าจะมีช่างจิตอาสาที่คัดเลือกเข้ามาช่วยงานกว่า 50 คน ทยอยเข้ามาช่วยงานอีก โดยในจำนวนดังกล่าวมี 15 คนสามารถเข้ามาช่วยงานฉลุลายไม้ภายใต้การดูแลของช่างสิบหมู่ได้ทันที ส่วนที่เหลือจะเข้ามาช่วยงาน ขัดกระดาษทราย และคัดลอกกระดาษแบบที่ฉลุลายออก “การฉลุลายไม้ครั้งนี้ ตนได้ถอดแบบลายพระหีบจันทน์ที่นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างอาวุโสออกแบบได้แล้ว 12 ลาย จากทั้งหมด 18 ลาย โดยช่างและจิตอาสาได้ทำการฉลุและประกอบลาย เข้าช่อแล้วบางส่วน ซึ่งลายที่เริ่มประกอบนั้นส่วนใหญ่จะเป็นลายที่ง่ายไม่ซับซ้อนมาก จากนี้จะยากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ลายของชิ้นส่วนฝาพระโกศ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายบัวถลา ต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก เพราะต้องถอดเปลี่ยนใบเลื่อยในการฉลุหลายครั้งวันหนึ่งอาจทำได้เพียง 1 ชิ้นงานเท่านั้น” นายพิจิตร กล่าว ด้านความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น.ส.นันทกา พลชัย ผอ.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักหอจดหมายเหตุได้ดำเนินการจดบันทึกเหตุการณ์พระบรมศพฯ นับตั้งแต่เสด็จสวรรคตจนถึงปัจจุบัน โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกไปเป็นทีมไปบันทึกในสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีพระบรมศพ การก่อสร้างพระเมรุมาศ เหตุการณ์งานพระราชพิธี พิธีการ ในพระบรมหาราชวัง การประชุมคณะกรรมการทุกฝ่ายทุกคณะ ซึ่งการจดบันทึกเน้นเก็บรายละเอียดเหตุการณ์ บันทึกภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวให้ครบถ้วน พร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ในแต่ละด้านมาประกอบเหตุการณ์เพื่อความสมบูรณ์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมช่างภาพต่างๆ ช่างภาพมืออาชีพ จิตอาสามาช่วยเก็บภาพความเคลื่อนไหวอีกด้วย น.ส.นันทกา กล่าวอีกว่า หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลได้ แล้วจะนำมาเรียบเรียงข้อมูลตามลักษณะการจัดทำจดหมายเหตุ และภาพประกอบเป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ แบ่งเป็นการเรียบเรียงเบื้องต้นโดยนักจดหมายเหตุ จากนั้นจะจัดส่งรายละเอียดและเนื้อหาไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจความถูกต้อง ก่อนส่งต่อไปยังผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านจดหมายเหตุพิจารณาตรวจทาน และแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ได้รับมอบหมายให้จัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกรวมทั้งสิ้น 9 เล่ม แต่ละเล่มจะมีคณะอนุกรรมการจัดทำเฉพาะเล่ม และขณะนี้การดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 30% กำหนดระยะเวลาจัดทำจดหมายเหตุและหนังสือที่ระลึกให้แล้วเสร็จก่อน 6 เล่มภายในเดือนกันยายนนี้ “ส่วนอีก 3 เล่ม ได้แก่ จดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร หนังสือที่ระลึกเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และหนังสือที่ระลึกพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์และพระเมรุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กำหนดแล้วเสร็จภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” น.ส.นันทกา กล่าว