“สุทธิพล” เดินเกมรุกยกระดับตรวจสอบช่องทางขายประกันผ่านแบงค์เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภค เเผยปีนี้จะเริ่มใช้มาตรการ Market Conduct Annual Statement - เล็งตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน – จ่อทำ MOU เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยไซเบอร์ให้แบงค์ลดความเสี่ยงจากภัยจู่โจมในยุค Fin Tech ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ.ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อตรวจการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติ ส่งผลให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับซื้อประกันภัยร่วมกับธุรกรรมทางการเงิน เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า มีอัตราลดลงร้อยละ 77 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นในปี 2560 สำนักงานคปภ.ก็ยังคงเดินหน้าและให้ความสำคัญตรวจการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมกับนายปรีดี ดาวฉายประธานสมาคมธนาคารไทย คณะผู้บริหารสมาคมฯ และผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 19 แห่ง โดยมีคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ร่วมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับและควบคุมคุณภาพการเสนอขายประกันผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ หรือ แบงค์อินชัวรันส์ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้จัดเป็นครั้งที่สอง โดยมีวัตถุประสงค์ติดตามปัญหาอุปสรรคในการขายประกันภัยผ่านธนาคารและเพื่อให้สมาคมธนาคารไทยกระตุ้นเตือนสมาชิกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมคุณภาพการเสนอขายประกัน ซึ่งในปี 2559 สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารที่ประกอบกิจการนายหน้าประกันชีวิตและนายหน้าประกันวินาศภัย ให้จัดกระบวนการกำกับและควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย การจัดให้มีหน่วยงานและบุคคลที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ การจัดให้มีกฎ ระเบียบ คู่มือ หรือแนวปฏิบัติในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย พร้อมบทลงโทษกรณีพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ รวมทั้งธนาคารต้องจัดให้มีระบบการกำกับตรวจสอบ ติดตามให้ผู้ทำหน้าที่เสนอขายปฏิบัติตามกฎ ระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งออกข้อแนะนำประชาชน 12 ข้อ ในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร ซึ่งได้มีการเผยแพร่และขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ติดประกาศเผยแพร่ในสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไปแล้ว ในการประชุมครั้งนี้ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมความพร้อมและทราบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่สำนักงาน คปภ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิตฯและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีบทกำหนดโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับด้วย ทั้งนี้ในอนาคตตัวแทน/นายหน้าประกันภัยกระทำผิด นอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ถ้ากระทำเข้าองค์ประกอบความผิดเรื่องการฉ้อฉลการประกันภัยก็จะถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกและปรับ นอกจากนี้นายหน้านิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันวินาศภัย ต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลธรรมดาที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันวินาศภัยได้ก่อขึ้นจากการกระทำเป็นนายหน้าประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันวินาศภัยของนิติบุคคลนั้นด้วย ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ดังนั้นในปี 2560 เพื่อให้การติดตามการเสนอขายประกันภัยผ่านธนาคารเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพ โดยขอความร่วมมือธนาคารจัดทำรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของธนาคาร (Market Conduct Annual Statement: MCAS) เพื่อให้ธนาคารประเมินตนเองเกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และกระบวนการควบคุมความเสี่ยงจากการขาย โดยตระหนักถึงความสำคัญในการกำกับตรวจสอบ ติดตามควบคุมดูแลพนักงานธนาคารให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับธนาคารเอง อีกทั้งประชาชนยังได้รับความชัดเจนในการบริการ ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเสนอขายอันนำมาซึ่งข้อร้องเรียน รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ ทัศนคติทีดีให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยเกิดการยอมรับ และเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้สำนักงาน คปภ.จะได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดเนื้อหาของรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของธนาคาร (Market Conduct Annual Statement: MCAS) โดยคาดว่าจะเริ่มให้ธนาคารจัดส่งรายงานมายังสำนักงาน คปภ. ประมาณปลายปี 2561 รวมทั้งจะมีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติในการขายประกันในประเด็นที่อาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ นอกจากนี้จะมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับสมาคมธนาคารไทย เพื่อร่วมมือกันเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร ตลอดจนเพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยบริหารความเสี่ยงในกรณีมีการจู่โจมทางไซเบอร์ (ประกันภัยไซเบอร์) โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม ทำให้โลกเป็นสังคมที่ไร้พรมแดน และต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) และการประกันภัยไซเบอร์จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ได้ทวีความรุนแรงและมีความสลับซับซ้อนและธนาคารพาณิชย์เองตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเตรียมการเพื่อป้องกันปัญหาและบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ