ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] "ต้นไม้ทรงปลูก" (1) "ขอพูดอะไรสักหน่อย วันนี้ได้รับเชิญมาปลูกต้นไม้ ก็ทำให้คิดว่า การปลูกต้นไม้ก็จำเป็นจะต้องเลือกว่าต้นอะไรจึงจะดี เหมาะสำหรับมหาวิทยาลัย ต้นไม้อะไร ๆ ก็สีเขียว ต้นนนทรีที่เลือกเป็นต้นไม้ของเกษตร ก็เหมาะสมที่มีสีเขียวด้วย เหมาะมาก และน่ายินดีมากที่ต้นนนทรีนั้นปลูกได้ทั่วทุกแห่งของไทย เพราะทนแล้ง ทนแดดได้ นี้เป็นความหมายที่ดี เพราะคนไทยถ้าปลูกในแผ่นดินไทยก็เติบโตดีและเจริญดี ต้นไม้ต้องมีดินจึงจะเจริญได้ดี ถ้าเอาไปใส่กระถางหรือเอาไปปลูกในน้ำ หรือปลูกในน้ำยาคุณภาพดี ๆ จากต่างประเทศ ก็จะหงอยอยู่ไม่ได้ เขาต้องการดิน ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วย กันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลายขอให้ช่วย กันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่ได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ให้ช่วยกันรักษาแผ่นดินไทยด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเรา ก็ไม่อยากให้เป็น เช่นนั้น" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2506 ณ บริเวณสระน้ำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้ยังสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ต้นไม้ที่ทรงปลูกไว้อย่างน้อยที่สุดก็เป็นความภาคภูมิใจ เป็นสิริมงคล เป็นเครื่องหมายย้ำเตือนให้หน่วยงานสถานที่และประชาชนในพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆได้เกิดความสุขใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์เคยเสด็จพระราชดำเนินไป อันหมายถึงพระราชหฤทัยห่วงใยพระเมตตาอันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานสู่ราษฎรของพระองค์ ต้นไม้ทรงปลูก มีความหมายลึกซึ้งกว่าความเป็นสิริมงคลความภาคภูมิใจของพื้นที่ ดั่งพระราชดำรัสที่เชิญไว้ข้างต้นเพื่อจะได้ร่วมกันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน ที่ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยในการอนุรักษ์ฟื้นฟูต้นไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรธรรมชาติอันนำไปสู่คุณูปการแก่สรรพชีวิต โดยทรงดำเนินพระองค์ให้เห็นประจักษ์เพื่อให้เราคนไทยทุกคนเห็นความสำคัญของต้นไม้เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่จะสร้างสมดุลย์อันนำความสุขร่มรื่นมาสู่โลกได้ มีหลายหน่วยงานที่มีต้นไม้ทรงปลูกอยู่ในการดูแลรับผิดชอบ อย่างเช่นกรมป่าไม้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วัดต่างๆ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศเป็นต้น โดยเฉพาะกฟผ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวโยงกับป่ากับน้ำอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้เกิดความอุดมสมบูรณ์จากที่มีการตัดทำลายไปมากต่อมาก ด้วยเพราะทรงทราบอย่างลึกซึ้งด้วยพระอัจฉริยภาพว่าป่า น้ำคือชีวิตของสรรพสิ่งสรรพชีวิต ต้นไม้คือแหล่งต้นน้ำลำธาร น้ำคือปัจจัยหลักของการเจริญงอกงามมีน้ำก็มีไม้มีไม้ก็มีน้ำ มีน้ำก็มีชีวิต ชีวิตขาดน้ำไม่ได้ น้ำขาดป่าไม่ได้ ป่าขาดน้ำไม่ได้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ป่าน้ำจึงเป็นจุดที่มีคุณประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติและประชาชนมหาศาลที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ ได้ทรงทุ่มเทพระองค์เพื่อสร้างแหล่งน้ำ สร้างป่าให้กับราษฎรของพระองค์ ยิ่งป่าและน้ำดังกล่าวได้พัฒนาประโยชน์สูงสุดมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยกฟผ.ยึดหลักการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชคือการใช้ประโยชน์จากน้ำผ่านระบบการระบายออกจากเขื่อนสู่ประโยชน์การใช้สอยของประชาชน จนได้กระแสไฟฟ้ากระจายไปยังประชาชนทั้งประเทศอีกทางหนึ่งมาตลอด ป่าน้ำผันแปรมาเป็นพลังงานใช้สอยในสังคมประชาชนคนไทย นั่นย่อมหมายถึงการอนุรักษ์ป่า น้ำจึงเป็นความสำอย่างสูงสุดขององค์กรสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นแนวทางหลักในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาป่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีความเกี่ยวโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาป่าต้นน้ำเป็นพิเศษ นั่นหมายถึงประชาชนคนไทยต้องมีส่วนร่วมในการสำนึกถึงคุณค่าแห่งการอนุรักษ์ป่าฟื้นฟูต้นไม้ด้วยรูปธรรมหนึ่งแห่งการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าคือ ต้นไม้ทรงปลูก ที่บอกย้ำให้คนไทยทั้งประเทศตระหนักเห็นตระหนักรู้ถึงความสำคัญของต้นไม้ของป่า จากแนวพระราชดำริของพระองค์ได้ก่อให้เกิดโครงการพัฒนา และบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน หน่วยงานต่างๆก็ร่วมใจสนองแนวพระราชดำริ สืบสานแนวพระราชดำริอันก่อให้เกิดการอนุรักษ์ฟื้นฟูได้ในระดับหนึ่ง มีป่าที่เป็นแหล่งถนอมน้ำไว้ใช้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารต่อไปเพิ่มมากขึ้น(อ่านต่อ) ............................................................